ข่าวสาร

ข่าวสารจาก อย. รู้ทันเหตุการณ์ อัพเดททุกวัน

----
ขึ้นทะเบียน อย. ทั้งนำเข้าและผลิต
อาหาร++
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร++
เครื่องสำอาง++
เครื่องมือแพทย์++
วัตถุอันตราย++
ราคาพิเศษ สอบถามรายละเอียดได้ที่
Tel : 08-05584431, 09-70094800 (คุณเอ๋,คุณอาร์ม)
√สะดวก
√รวดเร็ว
√ราคาไม่แพง
√ยินดีให้คำปรึกษาฟรี

  • อย. ลงพื้นที่ประเมินความพร้อม ยกระดับด่านอาหารและยาแม่สอด
    อย. ลงพื้นที่ประเมินความพร้อม ยกระดับด่านอาหารและยาแม่สอด
    วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาดร.วัฒนศักดิ์ ศรรุ่ง ผู้อำนวยการกองด่านอาหารและยา ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเพื่อประเมินความพร้อมในการยกระดับด่านอาหารและยาแม่สอด โดยมีเภสัชกรบุญศักดิ์ อ่อนลิ้ม เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลแม่สอด ให้การต้อนรับและนำเสนอผลการปฏิบัติงานของด่านฯ โดยพบว่าส่วนมากเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล ซึ่งในปี 2565 มีมูลค่าการนำเข้ามากกว่าพันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ทีมผู้บริหาร อย.ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น รับฟังปัญหาอุปสรรค พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการดำเนินงานด่านอาหารและยา


  • อย. เร่งตรวจข้อเท็จจริงกรณีซอสหอยนางรม
    อย. เผยกรณีพบสิ่งแปลกปลอมในซอสหอยนางรมตามที่มีการนำเสนอบนสื่อสังคมออนไลน์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ลงตรวจสอบสถานที่ผลิตและส่งผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์แล้ว

    เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีการโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์พบสิ่งแปลกปลอมในน้ำมันหอย โดยผู้โพสต์ระบุว่าฉลากแสดงวันหมดอายุวันที่ 31 ธันวาคม 2567 จากการตรวจสอบพบว่าเป็นซอสหอยนางรม ตราเรือใบ เลขสารบบอาหาร 34-2-01749-2-0017 ผลิตโดย บริษัท นอร์มผลิตอาหาร จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลวารินชำราบ เข้าตรวจสอบสถานที่ผลิต พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด สูตรส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ไม่มีส่วนใดมีลักษณะเป็นชิ้นส่วนตามที่ปรากฏในข่าว เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างซอสหอยนางรม ตราเรือใบ ที่ผลิตรุ่นเดียวกับที่เป็นข่าว ส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 แล้ว ผลเป็นประการใด จะได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป

    ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

  • ความรู้ อย. ปวดเข่าจากข้อเสื่อม ใช้ยาอะไรดี
    เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนหรือเมื่อมีอายุมากขึ้น หลายคนมักพบเจอกับปัญหาเรื่องกระดูกและข้อทำให้มีอาการปวดเข่าได้ โดยสาเหตุของอาการปวดเข่านั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งที่พบได้บ่อย คือ อาการปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อมที่ถือว่าเป็นโรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตมาก บทความนี้จึงมาแนะนำยาที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าจากข้อเสื่อมและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง
    โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมลงของกระดูกอ่อนผิวข้อ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของรูปร่าง หรือโครงสร้างการทำงานของทั้งกระดูกข้อต่อ และกระดูกบริเวณใกล้ข้อ นอกจากนี้ข้อเข่าอาจเสื่อมได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การบาดเจ็บที่ข้อและเส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่า การเล่นกีฬา โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคเก๊าต์ รวมถึงการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมที่สังเกตได้ง่าย คือ จะมีอาการปวดข้อเข่า มีเสียงลั่นในข้อ หรือรู้สึกเสียดสีเมื่อมีการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเวลาขึ้นบันไดหรือเดินขึ้นทางชัน หรือมีอาการข้อฝืดหรือยึดติดเมื่อหยุดเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน
    แนวทางในการรักษาอาการปวดเข่าจาข้อเสื่อม ประกอบด้วย การรักษาแบบใช้ยาและการรักษาแบบไม่ใช้ยา รายละเอียด ดังนี้



    การใช้ยาบรรเทาอาการข้อเสื่อม

    สามารถแบ่งรูปแบบของการใช้ยาได้เป็น 2 รูปแบบ คือ

    1. ยากิน

    วัตถุประสงค์ในการใช้ยา คือ เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ

    ยาที่ใช้ : ยาพาราเซตามอล หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)

    ข้อควรระวัง : ในการรับประทานยาควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับและไต อีกทั้งควรระวังผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ การใช้ยากลุ่ม NSAIDs ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

    2. ยาฉีด

    วัตถุประสงค์ในการใช้ยา คือ เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ ใช้ในกรณีข้อเสื่อมรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น

    ยาที่ใช้ : ยาสเตียรอยด์ (Steroid)

    ข้อควรระวัง : การใช้ยาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่ควรฉีดประจำเนื่องจากจะไปทำลายกระดูกอ่อนข้อต่อได้



    นอกจากที่จะต้องระวังเรื่องจากการใช้ยาแล้วก็ยังต้องระวังพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันด้วย โดยสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อลดอาการจากโรคข้อเสื่อมได้ ดังนี้

    1. หลีกเลี่ยงการนั่งในลักษณะที่ต้องงอเข่า เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า หรือนั่งขัดสมาธิ

    2. ไม่ขึ้น - ลงบันไดโดยไม่จำเป็น

    3. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก

    4. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป

    5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องกระโดด แต่หันมาออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ หรือเดินแทน

  • ยาฆ่าเชื้อผสมสเตียรอยด์ ควรใช้เมื่อไหร่
    ยาฆ่าเชื้อผสมสเตียรอยด์ เป็นยาใช้ภายนอก/ยาใช้เฉพาะที่ถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรและมีการใช้อย่างจำกัด เนื่องจากมีส่วนประกอบของยาสเตียรอยด์และตัวยาฆ่าเชื้อ 1 ชนิดขึ้นไปตามวัตถุประสงค์ของการรักษา ซึ่งอาจได้ผลกับบางอาการและตอบสนองกับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่ายาฆ่าเชื้อกับยาสเตียรอยด์มีคุณสมบัติอย่างไร นำมาใช้ผสมกันเพื่อช่วยเรื่องใดบ้าง

    “ยาต้านจุลชีพ”หรือที่มักเรียกกันว่า “ยาฆ่าเชื้อ” ออกฤทธิ์ฆ่าหรือหยุดการเจริญของเชื้อก่อโรค มีการนำมาใช้ในยาสูตรผสมมีหลายกลุ่ม ทั้งยาต้านแบคทีเรีย เช่น เจนตามิซิน (Gentamicin), โพลีมิกซินบี (Polymyxin B) ยาต้านเชื้อรา เช่น โคลไทรมาโซล (Clotrimazole), นิสแททิน (Nystatin) ยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ตลอดจนยาที่มีฤทธิ์ต่อจุลชีพชนิดอื่น ๆ

    สำหรับ “ยาสเตียรอยด์” มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (ลดอาการปวด ร้อน บวม แดง) และฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากยาสเตียรอยด์มีหลายสูตรโครงสร้าง ทำให้แต่ละชนิดมีคุณสมบัติและความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ยาสเตียรอยด์ที่นำมาผลิตเป็นยาสูตรผสมร่วมกับยาฆ่าเชื้อ เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone), เบตาเมทาโซน (Betamethasone), เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) เป็นต้น

    ยาฆ่าเชื้อผสมสเตียรอยด์ สำหรับใช้ทาภายนอก หรือยาใช้เฉพาะที่ มีทั้งรูปแบบขี้ผึ้ง ครีม เจล ยาน้ำใส และยาน้ำแขวนตะกอน ถูกนำมาใช้รักษาโรคหลายอย่างที่ตอบสนองดีต่อยาสเตียรอยด์และเกิดการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย ได้แก่

    1. โรคทางระบบผิวหนัง เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบออกผื่น โรคสะเก็ดเงิน

    โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา

    2. โรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น ใช้ลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ตา ลดการอักเสบหลังการผ่าตัดตา โรคเยื่อบุตาอักเสบ

    3. โรคเกี่ยวกับหู เช่น รักษาหูชั้นกลางอักเสบ รักษาหูชั้นนอกอักเสบเรื้อรังจากการสัมผัส

    เนื่องจากยาสเตียรอยด์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและกดภูมิคุ้มกัน จึงใช้รักษาโรคผิวหนังหรืออาการเจ็บป่วยเฉพาะที่ เช่น แผลเริมที่ปาก เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ ระคาย และคัน ตรงบริเวณที่ได้รับยาได้ดี และพบว่าการใช้ยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาฆ่าเชื้อช่วยลดความรุนแรงของโรคหรืออาการข้างต้นได้

    โดยทั่วไปยาสูตรผสมไม่ควรใช้นานเกิน 7 หรือ 10 วัน การใช้เป็นเวลานานจะเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์มากขึ้น ดังนี้

    1. ยาที่มีสเตียรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นยาเดี่ยวหรือยาสูตรผสม หากใช้ตัวยาและความแรงไม่เหมาะสมกับอาการของโรค อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนรุนแรง รวมถึงผลข้างเคียงบริเวณที่ใช้ยา เช่น ผิวหนังบริเวณที่ทายาบางลง ผิวแดง/ด่าง มีริ้วลาย

    2. หากใช้สูตรยาไม่ตรงกับเชื้อก่อโรค อาจทำให้ไม่ตอบสนองต่อการรักษา เกิดเชื้อดื้อยา และยากต่อการดูแลเมื่อมีการติดเชื้อเรื้อรังหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน อีกทั้งเสี่ยงได้รับผลข้างเคียงจากยาต้านจุลชีพ โดยเฉพาะหากยาสูตรผสมนั้นมียาต้านจุลชีพมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป

    ดังนั้นควรใช้ยาสูตรผสมในระยะเวลาสั้น ๆ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดที่มีความแรงสูงเป็นเวลานานและทาเป็นบริเวณกว้าง ควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกร ไม่ควรหาซื้อยามาใช้เอง เนื่องจากยังไม่มีการศึกษายืนยันว่าการใช้ยาสูตรผสมมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ยาเดี่ยวอย่างชัดเจน และแพทย์จะสั่งใช้เมื่อพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์ในการรักษามากกว่าผลข้างเคียงเท่านั้น

  • อย. เตือนอย่าซื้อเครื่องดื่มโสม กระชายดำ ยี่ห้อนี้ พบสเตียรอยด์ เร่งเอาผิด
    อย. ตรวจเครื่องดื่มสมุนไพรโสมผสม กระชายดำ ตราเทพี พบยกเลิกเลขสารบบไปแล้ว 2 ปี ตรวจพบ สเตียรอยด์ หลังพบโฆษณาเกินจริง เร่งเอาผิดถึงขอนแก่น

    วันที่ 26 พ.ค.2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศเผยแพร่ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรโสมผสมกระชายดำ ตราเทพี เลขสารบบอาหาร 40-2-00658-2-0012 ฉลากระบุ “…ชาสมุนไพรตรา เทพี สรรพคุณแก้ปวดตามข้อ ปวดหลัง ปวดเอว โรคเกาท์ รูมาตอยด์ ภูมิแพ้ กระดูกทับเส้นประสาท แก้ปวดประจำเดือน ขับสารพิษออกจากร่างกาย…MFG: 301222 EXP: 301224” ซึ่งจากตรวจเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พบว่า สถานะผลิตภัณฑ์ยกเลิกโดยผู้ประกอบการ ตั้งแต่ 16/2/2564

    เมื่อนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตรวจสอบด้วยชุดทดสอบสเตียรอยด์เบื้องต้น พบว่ามีการปนเปื้อนสารสเตียรอยด์ สำหรับสเตียรอยด์ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย การใช้สเตียรอยด์อย่างไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอันตรายต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

    เช่น มีผลกดภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เยื่อบุกระเพาะอาหารบางลง อาจทำให้กระเพาะทะลุหรือเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย กระดูกผุ อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจเกิดอาการหัวใจล้มเหลวได้

    ทั้งนี้ เนื่องจากสถานที่ผลิตตามเลขสารบบอาหารดังกล่าวตั้งอยู่ที่จ.ขอนแก่น ทาง อย. จึงได้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ขอนแก่นเพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ดังนั้น ขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อ “ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรโสมผสมกระชายดำ ตราเทพี” ที่ฉลากระบุรายละเอียดดังกล่าวข้างต้นมารับประทาน


  • อย.เตือนอย่าเชื่อ เว็บไซต์แอบอ้างชื่อ รพ. หลอกขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง
    อย. เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อเพจและเว็บไซต์ตัดต่อภาพคณะแพทย์โรงพยาบาลชื่อดัง เพื่อการโฆษณาหลอกขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตรวจสอบไม่พบข้อมูลการขออนุญาตผลิตภัณฑ์

    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบผลิตภัณฑ์ 3 ชนิด ได้แก่

    1.ผลิตภัณฑ์แชมพูสระผม ยี่ห้อ Herbs Plant Shampoo ระบุสรรพคุณ “…ช่วยบำรุงผมและปรับปรุงผมชี้ฟู ซ่อมแซมผมขาวตั้งแต่เริ่มต้น...แชมพูแก้ผมหงอก…”

    2.ผลิตภัณฑ์ยารักษาหัวล้าน ยี่ห้อ EELHOE ระบุสรรพคุณ “...ช่วยให้ผมยาวขึ้น ป้องกันผมร่วง ทำให้ผมหนาขึ้น...แก้ผมบาง หัวล้าน...เห็นผลใน 3 วัน...”

    3.ผลิตภัณฑ์แชมพูสระผม ยี่ห้อ qinf eiyan ระบุสรรพคุณ “…คุณหมอแนะนำรักษาจากราก คนวัย 80 ปี ก็ผมดำได้อีกครั้ง ผมหงอก 20 ปี ได้รับการช่วยชีวิด สูตรสมุนไพรจีน...รักษาที่ต้นเหตุ บอกลาผมสีขาว...”

    ตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการแอบอ้างใช้ภาพถ่ายของแพทย์ ตลอดจนชื่อและโลโก้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นำไปตัดต่อ ดัดแปลง เติม และใช้ถ้อยคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อโดยไม่สมควร ไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาและไม่ได้ขออนุญาตผลิตภัณฑ์กับ อย. ทั้งนี้ อย. อยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด

    ข้อแนะนำ

    ขอแนะผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อมูลการขออนุญาตผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่ www.fda.moph.go.th หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai และควรพิจารณาเนื้อหาการโฆษณาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย อย่าหลงเชื่อโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ ได้รับอนุญาตหรือไม่ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ อย. หมวดบริการประชาชน ในหัวข้อสืบค้นใบอนุญาตโฆษณา ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถาม หรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

  • ความรู้ อย. หมากฝรั่งนิโคติน ช่วยเลิกบุหรี่

    อย่างที่ทราบกันว่าการสูบบุหรี่ทำให้สุขภาพแย่ลง และส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา แต่เนื่องจากในบุหรี่มีสารเสพติดที่ชื่อว่า “นิโคติน” ซึ่งสารชนิดนี้เมื่อร่างกายได้รับแล้ว จะต้องการในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดภาวะเสพติด เมื่อผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ หยุดสูบบุหรี่ จะทำให้เกิดอาการหน้ามืด ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หงุดหงิด ซึมเศร้า กระสับกระส่าย ซึ่งเรียกว่าภาวะถอนนิโคติน ภาวะดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้เลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ หมากฝรั่งนิโคติน จัดเป็นยาที่ช่วยเลิกบุหรี่ที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากใช้ง่าย และสะดวก โดยหมากฝรั่งนิโคติน เป็นหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของนิโคติน มี 2 ขนาด ได้แก่ 2 มิลลิกรัม และ 4 มิลลิกรัม ซึ่งขนาดที่ใช้ขึ้นอยู่กับจำนวนบุหรี่ที่สูบ ใช้ทดแทนนิโคตินจากบุหรี่ ดังนั้นเมื่อเลิกสูบบุหรี่ ก็จะยังได้รับนิโคตินจากหมากฝรั่ง ทำให้เกิดอาการถอนนิโคตินน้อยลงหรือไม่เกิดเลย จึงสามารถช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น แต่ต้องใช้อย่างถูกวิธีจึงจะเห็นผล ผู้ที่ต้องการใช้ควรปฏิบัติดังนี้

    1.เคี้ยวหมากฝรั่งช้า ๆ จนเริ่มมีรสเผ็ดซ่า

    2.เมื่อรู้สึกถึงรสเผ็ดซ่าให้หยุดเคี้ยว แล้วนำหมากฝรั่งไปพักไว้ที่กระพุ้งแก้มข้างใดข้างหนึ่ง

    3.เมื่อรสเผ็ดซ่าหายไปให้นำหมากฝรั่งมาเคี้ยวใหม่

    4.เคี้ยวหมากฝรั่งจนมีรสเผ็ดซ่าแล้วนำไปพักไว้ที่กระพุ้งแก้มเช่นเดิม สลับกันไป ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

    5.ห่อหมากฝรั่งด้วยกระดาษให้มิดชิดก่อนทิ้ง เพื่อป้องกันเด็กหรือสัตว์เลี้ยงนำไปเคี้ยวและอาจเกิดอันตรายได้จากนิโคตินที่ค้างอยู่ในหมากฝรั่ง

    ก่อนเริ่มใช้หมากฝรั่งนิโคตินควรหยุดสูบบุหรี่ทันที เพราะหากสูบบุหรี่ควบคู่ไปกับการเคี้ยวหมากฝรั่งนิโคติน อาจทำให้ร่างกายได้รับสารนิโคตินมากขึ้นจนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ และควรงดเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด เช่น กาแฟ น้ำส้ม น้ำอัดลม ก่อนเคี้ยวหมากฝรั่ง 15 นาที เนื่องจากทำให้การดูดซึมนิโคตินลดลง และควรกลืนน้ำลายช้า ๆ ไม่กลืนน้ำลายมากเกินระหว่างเคี้ยว เพื่อลดการระคายเคืองทางเดินอาหาร และไม่ควรหยุดหรือปรับเปลี่ยนการใช้หมากฝรั่งเองแม้อาการอยากบุหรี่จะดีขึ้นแล้วก็ตาม หมากฝรั่งนิโคตินเป็นเพียงทางเลือกอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แต่การเลิกบุหรี่ก็มีอีกหลากหลายวิธี หากสนใจควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม หรือโทร สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600

  • อย.จัดการประชุมสัมมนาเพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไปยังประเทศมาเลเซีย
    เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยกองความร่วมมือระหว่างประเทศ จัดการประชุมสัมมนาให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายขององค์กรในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย การประชุมสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออก โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากหน่วยงานของประเทศมาเลเซียที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Malaysia External Trade Development Corporation (MATRADE), Food Safety and Quality Division, Ministry of Health Malaysia และ National Pharmaceutical Regulatory Agency (NPRA) มานำเสนอข้อมูลแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์สุขภาพ กฎระเบียบในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมไปถึงข้อกำหนดที่จำเป็นสำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศมาเลเซีย ซึ่งการประชุมสัมมนาดังกล่าว มีผู้ประกอบการไทยที่เข้าสนใจร่วมผ่านทางระบบออนไลน์กว่า 150 คน

    นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ประธานเปิดการประชุมสัมมนา โดยได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาท อย. ในการส่งเสริมผู้ประกอบการตั้งแต่ช่วงกลางน้ำ ในการพัฒนาระบบให้คำปรึกษาเพื่อการออกสู่ตลาดของผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรม ซึ่งรับผิดชอบโดยกองผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรมและการบริการไปจนถึงปลายน้ำโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการรักษาและขยายตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทยซึ่งรับผิดชอบโดยกองความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งนี้มีหัวข้อการอบรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่

    1. Market insight, trends, and opportunities of Malaysia market นำเสนอภาพรวมของตลาด แนวโน้ม ความต้องการ และโอกาสของผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศมาเลเซีย

    2. Food Control Regulations in Malaysia & Food Import Requirement to Malaysia ซึ่งนำเสนอการแนวทางการกำกับดูแล กฎระเบียบ และข้อกำหนดในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารไปยังประเทศมาเลเซีย

    3. Cosmetic Registration in Malaysia นำเสนอถึงแนวทางการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนำเข้า รวมไปถึงขั้นตอนในการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของประเทศมาเลเซีย และ

    4. Herbal Product/Extraction Registration in Malaysia นำเสนอข้อกำหนดกฎระเบียบเกณฑ์การแบ่งประเภท และขั้นตอนกระบวนการสำหรับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณในประเทศมาเลเซีย

    ในระหว่างการประชุมสัมมนาผู้ประกอบการมีการซักถามประเด็นข้อสงสัยกับวิทยากรจากหน่วยงานของประเทศมาเลเซียซึ่งทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินการเพื่อเตรียมการสำหรับการส่งออก นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากการประชุมจะถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาเป็นข้อสรุปแนวทางสำหรับการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อเผยแพร่ผ่านทางส่วนส่งเสริมการส่งออกเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้กับผู้ประกอบการต่อไป

  • อย.เตือนผลิตภัณฑ์สมุนไพร "ประสมบุญ ขี้ผึ้งมรกต ฤทธิ์เย็น"
    อย.เตือนผลิตภัณฑ์สมุนไพร "ประสมบุญ ขี้ผึ้งมรกต ฤทธิ์เย็น" จากการตรวจสอบข้อมูลการโฆษณาผลิตภัณฑ์ตามที่ปรากฏดังกล่าวแล้วพบว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสูตรส่วนประกอบของสมุนไพร โดยมีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คือ “ขี้ผึ้งสกัด ฤทธิ์เย็น ใช้กัวซา หรือใช้นวดตามร่างกายเพื่อถอนพิษร้อน คลายเส้นเอ็น แก้เคล็ดขัดยอก ปวดเมื่อย แมลงสัตว์กัดต่อย” ซึ่งจากการ สืบค้นในระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ไม่พบปรากฏผลิตภัณฑ์สมุนไพร ดังกล่าวได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวนี้

  • รู้ทัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม
    ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สมุนไพร ซึ่งเป็นผลิตผลธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์ จุลชีพ หรือแร่ นำมาใช้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพมาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ปัจจุบันคนทั่วไปนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาและป้องกันโรค เพราะทำให้รู้สึกปลอดภัยในการเลือกใช้ และเพื่อความสะดวกและประโยชน์ในการได้รับข้อมูลจากฉลากบรรจุภัณฑ์อย่างครบถ้วน

    “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร”ครอบคลุมไปถึง ยาจากสมุนไพร ที่มีทั้งยาแผนไทย ยาพัฒนาจากสมุนไพร และยาแผนโบราณที่ใช้กับมนุษย์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้สำหรับการรักษา บรรเทา ป้องกันโรคหรือ ให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้าง หรือการทำหน้าที่ของร่างกายมนุษย์

    แต่สำหรับ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” สามารถสังเกตได้จากลักษณะดังต่อไปนี้

    1) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือวัตถุที่ทำเทียมทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรแท้ เช่น ผลิตภัณฑ์ “ฟ้าทะลายโจรแคปซูล100%” อาจพบการใช้ผงบอระเพ็ดแทนฟ้าทะลายโจร

    2) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แสดงชื่อผลิตภัณฑ์ หรือแสดงวัน เดือน ปีที่สิ้นอายุ ซึ่งไม่ใช่ความจริง เช่น จดแจ้งผลิตภัณฑ์กับ อย. ในชื่อ “ABC” หมดอายุ 10/67 แต่นำมาจำหน่ายในชื่อ “AAA” หมดอายุ 10/70

    3) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แสดงชื่อ เครื่องหมายของผู้ผลิต หรือที่ตั้งสถานที่ผลิต ซึ่งไม่ใช่ความจริง เช่น ผลิตภัณฑ์ “ฟ้าทะลายโจรหรรษา” ฉลากระบุผลิตโดย บริษัท หรรษา จำกัด แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าผลิตจาก บริษัท เริงรื่น จำกัด

    4) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แสดงฉลากหรือเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่ใช่ความจริง เช่น ฟ้าทะลายโจรB ตอนขึ้นทะเบียนระบุสรรพคุณ “ลดไข้” แต่ตอนจำหน่ายระบุสรรพคุณในฉลากเป็น “รักษาโรคความดัน เบาหวาน ยับยั้งเซลล์มะเร็ง”

    5) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามตำรับที่ขึ้นทะเบียน แจ้งรายละเอียด หรือจดแจ้งไว้ซึ่งไม่ใช่ความจริง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. แต่อ้างว่ามีเลขทะเบียนตำรับสมุนไพร แต่ใช้เลข อย. ของผลิตภัณฑ์อื่นมาแอบอ้าง

    6) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในตำรับที่ขึ้นทะเบียน แจ้งรายละเอียด จดแจ้ง หรือมีค่าคลาดเคลื่อนผิดจากเกณฑ์ที่รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนด เช่น “ฟ้าทะลายโจรDD” ขึ้นทะเบียนตำรับโดยระบุมีสาร Andrographolide 60 mg. แต่ผลิตออกมาจำหน่ายจริงมีสาร Andrographolide เพียง 15 mg.

    ผู้บริโภคที่มีโรคประจำตัวควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์จาก อย. ที่ www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ซึ่งตามกฎหมายผลิตภัณฑ์สมุนไพร จะต้องมีเลขทะเบียนตำรับสมุนไพร ขึ้นต้นด้วยอักษร “G” หรืออักษร “K” เช่น G 123/45, K 123/45 และควรซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หากพบว่ารายละเอียดไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาตอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ชื่อผู้ผลิต ชื่อผลิตภัณฑ์ สถานที่ผลิต วัน เดือน ปีที่ผลิตและหมดอายุ เลขทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปริมาณส่วนประกอบและสารสำคัญ การกล่าวอ้างสรรพคุณ ไม่ควรซื้อมารับประทาน เพราะอาจทำให้ไม่ทราบแต่ละรายละเอียดสำคัญเช่น มาตรฐานการผลิต แหล่งผลิตที่แท้จริง ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เสี่ยงได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน และเสียโอกาสในการรักษา

  • อย. เตือน อย่าซื้อเยลลี่ผสมกัญชาไม่มีเครื่องหมาย อย. แนะอ่านฉลากก่อนบริโภค
    อย. เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อเยลลี่ผสมกัญชา ไม่มีเลข อย. เป็นผลิตภัณฑ์ลักลอบนำเข้า เสี่ยงได้รับอันตราย แนะซื้ออาหารที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง และอ่านข้อความบนฉลากให้ละเอียดก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัย

    จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อออนไลน์ว่ามีผู้บริโภครับประทานขนมเยลลี่แล้วเกิดอาการผิดปกติจนต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งภายหลังพบว่าเป็นขนมเยลลี่ผสมกัญชา โดยมีสติ๊กเกอร์ปิดทับส่วนประกอบที่ระบุว่ามีกัญชาไว้

    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบแล้ว เป็นอาหารผลิตจากต่างประเทศ ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย ไม่ได้ขอ อย. จากการตรวจสอบข้อมูลการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ในประเทศไทย ไม่พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อย. อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน หากพบผู้กระทำผิดจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

    เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนอย่าซื้อขนมเยลลี่ดังกล่าวมารับประทาน เลือกซื้ออาหารที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง และเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการบริโภคและข้อความคำเตือนที่แสดงบนฉลาก

    ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

  • อย.เตือน "ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาเอ็น-ดานอล น้ำมันว่าน 801 บวรเวช"
    อย.เตือน "ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาเอ็น-ดานอล น้ำมันว่าน 801 บวรเวช" จากการตรวจสอบข้อมูลและเนื้อหา ตามที่ปรากฏดังกล่าวและจากสืบค้นฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทย เลขทะเบียนยาที่ G 13/57 แต่อยู่ภายใต้ข้อบ่งใช้ บรรเทา อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ดังนั้นการนำเอาผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวมาใช้เพื่อ “บรรเทาอาการปวด ไหล่ติด ปวดหลัง คอบ่าไหล่ ออฟฟิศซินโดรม นิ้วล็อค ปวดเข่า รอง” ตามที่กล่าวอ้าง จึงไม่สอดคล้องตามสรรพคุณที่ขึ้นทะเบียนไว้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวในสรรพคุณตามที่กล่าวอ้าง

  • ความรู้ อย. วัคซีนในวัยรุ่น
    วัคซีนในวัยรุ่น
    วัคซีนในวัยรุ่นส่วนใหญ่เป็นวัคซีนต่อเนื่อง ใช้สำหรับการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งถือเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะช่วยลดการเกิดโรคและลดความรุนแรงของโรคได้ โดยวัคซีนแต่ละชนิดมีเกณฑ์การได้รับแตกต่างกันไป ดังนี้
    1.วัคซีนตับอักเสบบี
    โดยปกติทารกควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีครั้งแรกเมื่อแรกเกิด และจะต้องฉีดวัคซีนจนครบชุดเมื่ออายุครบ 6 เดือน
    - แต่สำหรับวัยรุ่นที่ไม่เคยได้รับวัคซีนนี้มาก่อน ควรฉีดวัคซีนโดยแนะนำให้ฉีด 3 เข็ม ระยะห่าง 0 , 1 และ 6 เดือนตามลำดับ โดยวัคซีนเข็มที่สองไม่ควรฉีดก่อน 1 เดือน หากเลยกำหนด 1 เดือนให้ฉีดเข็มที่สองทันทีที่นึกได้ และนับต่อไปอีก 5 เดือนสำหรับเข็มที่สาม
    - กรณีได้รับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีไม่ครบตามกำหนด (ไม่ครบ 3 เข็ม) ควรฉีดวัคซีนต่อโดยเร็วที่สุด
    https://www.immunize.org/vis/thai_hepatitis_b.pdf
    https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1243
    https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1641720210104092850.pdf (Slide18)
    2.วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม

    ปกติจะฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 9 เดือน และเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 1 ปี 6 เดือน
    - สำหรับวัยรุ่นที่ไม่เคยได้รับวัคซีนนี้ ควรได้รับวัคซีน 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ แต่หากเคยได้รับมาแล้ว 1 เข็มควรฉีดเพิ่มอีก 1 เข็ม
    - หลีกเลี่ยงการใช้ยาในผู้ที่แพ้ยานีโอมัยซิน เจลาติน หรือเคยมีปฏิกิริยากับวัคซีน MMR อย่างรุนแรง
    3.วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี
    - ยุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค จะแพร่เชื้อไวรัสในตัวยุงไปยังคนหรือสัตว์ที่ถูกกัด
    - สำหรับวัยรุ่นที่ไม่เคยได้รับวัคซีนนี้ ควรรับวัคซีน 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3-12 เดือน ขึ้นกับชนิดของวัคซีน อาจต้องฉีดกระตุ้นทุก ๆ 4-5 ปี เพื่อให้ภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงพอที่จะป้องกันโรคได้
    4.วัคซีนตับอักเสบเอ
    - ไวรัสตับอักเสบเอติดต่อทางการกิน ก่อให้เกิดโรคตับอักเสบและตับวายเฉียบพลันได้
    - ปัจจุบันมีวัคซีนตับอักเสบเอชนิดฉีด 1 เข็ม เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น และวัคซีนฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน
    5.วัคซีนอีสุกอีใส
    - โรคอีสุกอีใสในวัยรุ่นมีความรุนแรงสูง ควรฉีดวัคซีนนี้ในวัยรุ่นทุกคนที่ยังไม่เป็นโรคและไม่เคยฉีดวัคซีน
    - ฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน แนะนำในผู้ที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 13 ปีขึ้นไป ให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน
    6.วัคซีนโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์
    - แนะนำให้กระตุ้นเมื่ออายุ 11-12 ปี และหลังจากนั้นกระตุ้นด้วยวัคซีนโรคคอตีบ-บาดทะยัก ทุก 10 ปี
    - หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน ที่อายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ในทุกการตั้งครรภ์
    7.วัคซีนเอชพีวี
    - ป้องกันการเกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอดและทวารหนัก
    - วัคซีนมีหลายชนิด คือ วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ 4 สายพันธุ์ และ 9 สายพันธุ์
    - แนะนำฉีดในวัยรุ่น อายุ 9-26 ปี ฉีด 3 เข็ม และในวัยรุ่นแข็งแรงดี หากเข็มแรกฉีดก่อนอายุ 15 ปี ให้ฉีด 2 เข็ม
    - ประสิทธิภาพของวัคซีนจะสูงในผู้ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่เคยติดเชื้อมาก่อน


    8.วัคซีนไข้หวัดใหญ่

    - วัคซีนมี 2 ชนิด คือ วัคซีนชนิด 3 และ 4 สายพันธุ์
    - แนะนำฉีดวัคซีนในวัยรุ่นทุกปี ปีละ 1 เข็ม เนื่องจากสายพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี
    - ห้ามให้ในผู้ที่แพ้ยา/แพ้วัคซีน หรือส่วนประกอบของวัคซีนนี้ โดยเฉพาะผู้ที่แพ้ไข่ โปรตีนจากไก่ ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในกระบวนการผลิตวัคซีน เช่น ยานีโอมัยซิน (Neomycin) และยาโพลีมัยซิน (Polymyxin)
    9.วัคซีนไข้เลือดออก
    - ฉีดได้ในผู้มีอายุ 9-45 ปี ฉีด 3 เข็ม แต่ละเข็มฉีดห่างกัน 6 เดือน สามารถสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันไข้เลือดออกได้ 5-6 ปี นับจากวันที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก
    - แนะนำฉีดในผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนและผู้อาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก สำหรับผู้ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกควรตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน

    หลังได้รับวัคซีนอาจพบอาการข้างเคียง 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
    1.อาการทั่วไป เช่น อาการไข้ อ่อนเพลีย ผื่น เป็นต้น

    2.อาการเฉพาะที่ เช่นอาการปวด บวมแดง เจ็บ คันบริเวณที่ฉีด

    สามารถบรรเทาได้โดยประคบเย็นบริเวณที่บวม ซึ่งจะช่วยให้ทุเลาลง หรืออาจทานยาแก้ปวดลดไข้ร่วมด้วย
    การรับวัคซีนแต่ละชนิดมีข้อบ่งใช้ ระยะเวลา รูปแบบการฉีด และข้อจำกัดของแต่ละบุคคลแตกต่างกันออกไป จึงควรได้รับการพิจารณาจากแพทย์ถึงความเหมาะสมและความปลอดภัยก่อนทุกครั้ง

  • อย. เตือน ผลิตภัณฑ์น้ำมันว่านสมุนไพร "ตราวินไพรด์"
    อย. เตือน ผลิตภัณฑ์น้ำมันว่านสมุนไพร "ตราวินไพรด์"
    อย. เตือน ผลิตภัณฑ์น้ำมันว่านสมุนไพร "ตราวินไพรด์" จากการตรวจสอบข้อมูลการโฆษณา ตามที่ปรากฏดังกล่าวแล้วพบว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสูตรส่วนประกอบของสมุนไพร โดยมีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คือ “รักษากระดูกทับเส้น ปวดสะโพก ปวดก้นกบร้าวลงต้นขา ไหล่ติดไหล่ยึด พังผืดตามข้อ ปวดจากเกาท์ รูมาตอยด์ รองช้ำ อัมพฤต อัมพาต นิ้วล็อค ข้ออักเสบ” ซึ่งจากการสืบค้นในระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แล้ว ไม่พบปรากฏผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่ แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวนี้

  • อย. เตือนผลิตภัณฑ์สมุนไพร "ประสมบุญ น้ำสกัดย่านาง ฤทธิ์เย็น" จากการตรวจสอบข้อมูลการโฆษณาพบว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสูตรส่วนประกอบของสมุนไพร โดยมีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คือ “ใช้ดื่มเพื่อ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ เพื่อดับพิษร้อน ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดความดันโลหิตสูง ขยายหลอดเลือด ต้านมะเร็ง ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด” ซึ่งจากการสืบค้นในระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ไม่พบปรากฏผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวนี้

  • อย.เตือน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลูทีน่า คอฟฟี่
    อย.เตือน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลูทีน่า คอฟฟี่
    ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลูทีน่า คอฟฟี่ ขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตรา ลูทีน่า กลิ่นกาแฟ (Dietary Supplement Product LUTENA COFFEE FLAVOUR Brand) เลขอย. 65-1-03662-5-0371 ซึ่งการ แสดงภาพผลิตภัณฑ์และข้อความ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตรา ลูทีน่า กลิ่นกาแฟ ป้องกันโรคต้อลม ต้อกระจกเพิ่มความชุ่มชื้นของดวงตา ป้องกันตาแห้ง ตาล้า ลดอาการตาพร่า ตามัว” เป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือหลอกลวง ให้ เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่ง อย. จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำการฝ่าฝืนพรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ต่อไป

  • อย.เตือน ผลิตภัณฑ์ฉลากระบุ "SATTOCHI สารสกัดจากบอระเพ็ด"
    อย.เตือน ผลิตภัณฑ์ฉลากระบุ "SATTOCHI สารสกัดจากบอระเพ็ด" ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน” และ “ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม SAT TOCHI ปลอดภัย ผ่านการตรวจสอบจาก อย.” รวมทั้งแสดงใบสำคัญการจดทะเบียนอาหารที่มีข้อมูลไม่ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง เป็นการ ข้อความ โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพของอาหารโดย ไม่ได้รับอนุญาต และแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จหรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่ สมควร ซึ่ง อย. จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำการฝ่าฝืน พรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ต่อไป

  • อย. เตือน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารริชชี่ (ตราพิมพ์พญา)
    อย. เตือน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารริชชี่ (ตราพิมพ์พญา) ขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารริชชี่ (ตราพิมพ์พญา) เลขอย. 50-2-02661-5-0021 ซึ่งการแสดงภาพผลิตภัณฑ์และข้อความ “ริดสีดวงดีขึ้นได้ ถ้าได้รับการบำรุงที่ดี โดยไม่ต้อง ถึงห้องผ่า บรรเทา และฟื้นฟู ให้ดีขึ้น ทานสมุนไพรริชชี่พิมพ์พญา ช่วยได้ทุกระยะ” เป็นการโฆษณาคุณประโยชน์คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือหลอกลวง ให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่ง อย. จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำการฝ่าฝืน พรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ต่อไป

  • อย.เตือน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิซิแนกซ์ (Vizinex)
    อย.เตือน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิซิแนกซ์ (Vizinex) ขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อ ผลิตภัณฑ์เสริม อาหารวิเนกซ์ (VIZINEX DIETARY SUPPLEMENT PRODUCT) เลขอย. 11-1-06353-5-0020 ซึ่งการแสดงภาพผลิตภัณฑ์และ ข้อความ “Vizinex ช่วยฟื้นฟูการมองเห็นโดยไม่ต้องทำเลสิก ช่วยฟื้นคืนค่าสายตาได้ถึง 95-100% ผลิตภัณฑ์นี้ใช้ในการแก้ปัญหาโรค ทางตาเช่น สายตาสั้น ต้อหิน ต้อกระจก เส้นประสาทตาอักเสบ จอประสาทตาเสื่อม และโรคตาอื่นๆ ” เป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ ของอาหารอันเป็นเท็จโดยไม่สมควร ซึ่ง อย. จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำการฝ่าฝืน พรบ. อาหาร พ.ศ.2522 ต่อไป

  • ความรู้ อย. สเปรย์ระงับกลิ่นปาก ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือ ?
    หลังจากที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดมาพักใหญ่ ทำให้ความใส่ใจต่อสุขภาพของผู้บริโภคยิ่งมีมากขึ้น จึงเลือกหาผลิตภัณฑ์ที่สามารถป้องกัน รักษา อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ มาไว้ใกล้ตัว จนบางครั้งพบเห็นการโฆษณาอวดอ้างประโยชน์ต่าง ๆ อาจหลงเชื่อและซื้อมาทดลองใช้แบบไม่ทันคิด เช่น “สเปรย์ระงับกลิ่นปาก”
    สเปรย์ระงับกลิ่นปากเป็นยาหรือไม่ ?
    ตอบ ไม่ใช่ยา สเปรย์ระงับกลิ่นปากจัดเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอางสำหรับช่องปาก เช่นเดียวกับยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก ใช้ฉีดพ่นเข้าในช่องปากเพื่อระงับกลิ่นปาก ให้ความรู้สึกหอมสดชื่นจากส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย จึงไม่มีผลต่อการฆ่าเชื้อ ป้องกัน หรือรักษาโรค แต่บางครั้งอาจสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่ามีพืชสมุนไพรหรือส่วนประกอบบางอย่างที่สามารถป้องกันและลดความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ จึงไม่ควรหลงเชื่อ

    รู้ได้อย่างไร “สเปรย์ระงับกลิ่นปาก” ยี่ห้อไหนโฆษณาเกินจริง ?
    ตอบ โฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับช่องปาก ต้องสื่อถึงสรรพคุณหลักในการทำความสะอาด และส่งเสริมสุขอนามัยในช่องปากและฟัน ถึงแม้การโฆษณาเครื่องสำอางจะไม่มีเลขที่โฆษณาให้ผู้บริโภคสังเกต เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้สามารถทำการโฆษณาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่หากพบการโฆษณาด้วยถ้อยคำหรือภาพที่สื่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบของเหงือกและฟัน บรรเทาอาการเจ็บคอ กันเชื้อลงปอด เป็นต้น ข้อความเหล่านี้ถือว่าเข้าข่ายโฆษณาโอ้อวด หลอกลวง เกินจริง

    สเปรย์ระงับกลิ่นปากที่มีส่วนผสมของสมุนไพร ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงไหม ?
    ตอบ อย. ไม่รับจดแจ้งสเปรย์ระงับกลิ่นปากที่แสดงสรรพคุณในการต้านหรือป้องกันเชื้อโควิด-19 เพราะเครื่องสำอางไม่มีผลในการฆ่าหรือยับยั้งเชื้อโรคแต่อย่างใด ดังนั้นการที่มีผลิตภัณฑ์สเปรย์ระงับกลิ่นปากว่าสามารถฆ่ายับยั้ง ป้องกัน รักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ จึงไม่เป็นความจริง หากซื้อมาใช้จะเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองโดยเปล่าประโยชน์ รวมทั้งเสียโอกาสในการรักษาให้หายขาดแต่เนิ่น ๆ

    ทั้งนี้หากต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สเปรย์ระงับกลิ่นปาก ควรตรวจดูเลขที่ใบรับจดแจ้ง โดยจะแสดงเป็นตัวเลข 10 หรือ 13 หลัก เช่น xx-x-xxxxxxx เป็นต้น และหากพบว่ามีการโฆษณาในด้านการรักษาโรค ไม่ควรเสี่ยงซื้อมาใช้


  • อย.ร่วม ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) ทลายเครือข่ายแก๊งค์นายทุนเวียดนาม แอบอ้างชื่อแพทย์ดัง หลอกขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท

    อย.ร่วม ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) ทลายเครือข่ายแก๊งค์นายทุนเวียดนาม แอบอ้างชื่อแพทย์ดัง หลอกขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท
    วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ, พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ภาคภูมิ ศรีลาภะมาศ, พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์, พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ รอง ผบก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงข่าวกรณี ทลายเครือข่ายนายทุนชาวเวียดนาม แอบอ้างบุคลากรทางการแพทย์ชื่อดังหลายราย ดำเนเนคดีกับผู้ต้องหา 2 ราย พร้อมตรวจยึดของกลาง จำนวน 27 รายการ มูลค่าความเสียหาย 61,354,000 บาท พฤติการณ์กล่าวคือ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับแจ้งจาก พญ.ณิชา (สงวนนามสกุล) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ศูนย์โรคผิวหนังโรงพยาบาลกรุงเทพ ว่าพบเพจเฟซบุ๊กชื่อ “โรคผิวหนังในโรงพยาบาล - พญ.ณิชาฯ (https://www.facebook.com/SorionST5/) นำชื่อ-นามสกุลของตน ไปแอบอ้างทำการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายรายการ ตามเพจเฟซบุ๊กอย่างแพร่หลาย โดยที่ตนเองไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
    เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจสอบเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวพบว่ามีการใช้ชื่อแพทย์ตามโรงพยาบาลชื่อดัง 3 ราย โดยมีการตัดต่อรูปภาพแพทย์ รวมถึงแอบอ้างสถานพยาบาลต่างๆ มาประกอบการโฆษณาโดยมีการจัดทำผู้ซื้อสินค้าและผู้รีวิวการใช้ปลอมขึ้น เพื่อหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อในตัวแพทย์ และอวดอ้างสรรพคุณของสินค้าเกินความจริงว่าสามารถรักษาอาการต่างๆ ได้ เช่น ท้าทุกอาการ ทา 5 วัน ไร้คันช่วยปกป้อง, เสริมสร้างการทำงานของตับ, ช่วยในการฟื้นตัวของร่างกาย กำจัดเชื้อโรคจากภายในร่างกายจากเม็ดเลือดและช่วยในการไหลเวียนของเลือดเป็นต้นโดยมีการขายในลักษณะ Call-Center คือเมื่อมีผู้บริโภคทำการสั่งซื้อ โดยกรอกรายละเอียดของผู้ซื้อพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับผ่านเว็บไซต์ หรือกล่องข้อความทางเพจเฟซบุ๊ก จะมีการติดต่อกลับซึ่งเป็นข้อความในรูปแบบข้อความอัตโนมัติ เพื่อบรรยายสรรพคุณเกินจริง โน้มน้าวให้ผู้ซื้อหลงเชื่อตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งหลังจากที่ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าแล้วพบว่าไม่ได้ผลตามโฆษณาผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะปล่อยผ่านไปไม่มาแจ้งความร้องทุกข์ จึงเป็นการเอาเปรียบหลอกลวงผู้บริโภคที่คาดหวังผลการรักษา ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงทำให้เสียโอกาสทางการรักษาโรคที่ถูกต้อง
    เมื่อทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Sorion Forte Plus และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Sorion HERBAL SKIN CREAM ที่เว็บไซต์ดังกล่าวขาย พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่แสดงฉลากภาษาไทย, ไม่มีการแสดงเลข สารบบอาหาร และเครื่องสำอางไม่มีการแสดงเลขจดแจ้ง จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำผิด พบว่ากลุ่มดังกล่าวนายทุนชาวเวียดนามมีส่วนเกี่ยวข้องในการเปิดเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ที่ใช้โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยี่ห้อ Sorion เป็นจำนวนมาก รวม 27 เพจ เพื่อกระจายการโฆษณาหากถูกปิดกั้นเพจ โดยมีการโฆษณาขายสินค้าและรับออเดอร์สินค้าอยู่ที่ประเทศเวียดนาม และทำการส่งข้อมูลการจัดส่งสินค้าให้กับพนักงานในประเทศไทยทำการบรรจุและจัดส่งโดยมีผู้สั่งการในประเทศไทยเป็นชาวเวียดนามทำหน้าที่ดูแล สั่งการอีกทางหนึ่ง
    ต่อมา เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำหมายศาลจังหวัดสมุทรสาคร ที่ ค.297/2566 เข้าทำการตรวจค้นสถานที่เก็บและบรรจุสินค้าในพื้นที่ ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พบนายเสน่ห์ (สงวนนามสกุล) ซึ่งรับว่าตนมีหน้าที่ผิดฉลาก-บรรจุ และจัดส่งสินค้า แสดงตนเป็นพนักงานของสถานที่ดังกล่าว เป็นผู้นำตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Sorion Forte Plus, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Sorion HERBAL SKIN CREAM,ผลิตภัณฑ์เสริมอารลดน้ำหนักยี่ห้อ lishou และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 13 รายการ
    จากนั้นได้ทำการสืบสวนขยาบผลทราบว่ามีสถานที่เก็บ, บรรจุ และจัดส่งผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายอีกแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ซอยเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ ซ.๓๗ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เดินทางไปตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว พบ นายชัยพร (สงวนนามสกุล) แสดงตนเป็นพนักงานของสถานที่ดังกล่าว มีหน้าที่บรรจุ และจัดส่งสินค้า เป็นผู้นำตรวจค้น ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Sorion Forte Plus, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Sorion HERBAL SKIN CREAM, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักยี่ห้อ lishou และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 14 รายการ
    สอบถาม นายชัยพรฯ พนักงานของสถานที่ดังกล่าว แจ้งว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นของ น.ส.แก้ว หรือ MISS TIEU NY (สงวนนามสกุล) สัญชาติเวียดนาม ซึ่งทำหน้าที่ดูแลผลิตภัณฑ์ และสั่งการอยู่ที่ประเทศไทย จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจยึดผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับ Miss TIEU NY (สงวนนามสกุล) นายจ้างชาวเวียดนาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ในเวลาต่อมา โดยได้แจ้งข้อกล่าวหา Miss TIEU NY และ น.ส.สุวิมล (สงวนนามสกุล) ในความผิดฐาน “ร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา, ร่วมกันขายเครื่องสำอางที่มีฉลากไม่ถูกต้อง, ร่วมกันขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง และร่วมกันจำหน่ายอาหารโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้องโดยไม่แสดงฉลากเป็นภาษาไทย” ตรวจยึดของกลาง จำนวน 27 รายการ มูลค่าความเสียหาย 61,354,000 บาท โดย น.ส.สุวิมลฯ รับว่าตนเป็นเจ้าของสถานที่ทำหน้าที่ดูแล และแพ็คสินค้าตามออเดอร์ของ นายจ้างชาวเวียดนาม ชื่อ น.ส.แก้วฯ หรือ Miss TIEU NY โดยรับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท และทำมาแล้วประมาณ 1 ปี
    การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
    1. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
    2. พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 72 (4) ฐาน “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    3. พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6 (10) ฐาน “จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
    4. พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 มาตรา 32(4) ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทย” ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 32(1) ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
    5.กรณีการนำเข้าข้อมูลเท็จและโฆษณาสินค้าดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ฐาน "นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ" ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และ ข้อหา "โฆษณาเครื่องสำอางเป็นเท็จ" ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนจนสามารถจับกุมผู้ค้าตรวจยึดผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายได้จำนวนมาก
    ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบในครั้งนี้เป็น ยา อาหาร และเครื่องสำอางที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. ไม่มีฉลากภาษาไทย ลักลอบนำเข้า และพบการโฆษณาหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ไม่มีหลักฐาน หรือผลการทดสอบประสิทธิภาพทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน จึงขอเตือนผู้บริโภคว่า ไม่มีอาหารหรือเครื่องสำอางที่มีสรรพคุณรักษาโรคได้ ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงเชื่อข้อมูลเท็จ โฆษณาเกินจริง ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
    พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าขอให้ระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อออนไลน์ที่โฆษณาหลอกลวงเกินจริง เช่น ลดน้ำหนักภายใน 7 วัน, รักษาเบาหวาน, รักษาเชื้อรา, รักษาหลอดเลือด, รักษาต่อมลูกหมาก, อายุยืนทำความสะอาดหลอดเลือด, ถ่ายพยาธิ,เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ, เรียกความจำคืน, เพิ่มขนาดหน้าอก, แก้ปัญหาการได้ยิน, ลดริ้วรอยย้อนอายุไป 30 ปี เป็นต้น และหากผู้บริโภคหลงเชื่อสั่งซื้อสินค้ามาใช้ อาจทำให้ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ และทำให้เสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์เฉพาะทาง บางรายอาจส่งผลต่อสุขภาพ และขอเตือนไปยังผู้คิดจะกระทำความผิดหลอกลวงคนอื่นด้วยวิธีการเอาความเจ็บป่วย, สรรพคุณการรักษา หรือชื่อเสียงของแพทย์และสถานพยาบาลต่างๆ มาหลอกลวงขายสินค้าให้กับผู้บริโภค หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

  • อย. เตือน ทดสอบการแพ้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย
    กรณีมีผู้ซื้อแชมพูปิดผมขาวจากร้านสะดวกซื้อมาใช้แล้วเกิดการแพ้จนหน้าบวม ตาบวม ลืมตาไม่ขึ้นและได้เข้าร้องทุกข์กับ สคบ. นั้น เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานที่ผลิตเครื่องสำอางตามข่าว พบว่า ขออนุญาตผลิตถูกต้อง ผ่านมาตรฐาน ASEAN GMP ผลิตภัณฑ์จดแจ้งเครื่องสำอางต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ฉลากผลิตภัณฑ์แสดงข้อความครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในรุ่นการผลิตเดียวกับที่เป็นข่าวและรุ่นการผลิตล่าสุด ส่งตรวจ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจสอบหาสารห้ามใช้ รวมถึงปริมาณสีย้อมผมว่าเป็นไปตามที่จดแจ้งไว้หรือไม่ หากพบการฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย

    อย่างไรก็ตาม สารเคมีในยาย้อมผมอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้ได้ การแพ้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล จึงควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ โดยผสมผลิตภัณฑ์ตามที่ฉลากระบุและทาผลิตภัณฑ์ในปริมาณเล็กน้อยที่บริเวณใต้ท้องแขนหรือหลังใบหู ทิ้งไว้ 24 - 48 ชั่วโมง หากเกิดความผิดปกติ เช่น ผื่นคัน ระคายเคือง ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นั้น นอกจากนี้จะต้องปฏิบัติตามวิธีใช้และคำเตือนที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด ขณะใช้หากเกิดอาการผิดปกติ เช่น แสบร้อน คัน ระคายเคือง ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดแล้วรีบไปพบแพทย์

    ผู้บริโภคควรตรวจสอบข้อมูลการได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ข้อมูลต้องตรงกับที่ปรากฏบนฉลาก มีสถานะใบรับจดแจ้งคงอยู่ และก่อนซื้อให้พิจารณาว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีฉลากภาษาไทย ระบุชื่อ ประเภทเครื่องสำอาง แสดงชื่อสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม มีชื่อ-ที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต เดือนปีที่หมดอายุ (สำหรับเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน) คำเตือนและเลขที่ใบรับจดแจ้ง ควรซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือและมีชื่อ - ที่ตั้งแน่นอน หากใช้แล้วเกิดปัญหาสามารถติดตามย้อนกลับได้

    หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สงสัยว่าจะไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

  • ความรู้ อย. ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาลดการดูดซึมไขมัน
    ยาลดการดูดซึมไขมัน (Orlistat) จัดเป็นยาสำหรับการรักษาในระยะยาวในผู้ป่วยโรคอ้วน หรือ ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน รวมทั้งผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสัมพันธ์กับความอ้วน โดยใช้ร่วมกับอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ ออกฤทธิ์ป้องกันไม่ให้ไขมันบางส่วนจากอาหารที่รับประทานเข้าไปถูกดูดซึมในทางเดินอาหาร โดยให้รับประทานยาพร้อมกับอาหารหลักที่มีไขมันหรือหลังอาหารไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งนอกจากผลข้างเคียงของยาที่เกิดจากไขมันไม่ถูกย่อยและไม่ถูกดูดซึม ทำให้มีไขมันออกมาพร้อมอุจจาระและระบบขับถ่ายผิดปกติแล้วนั้น รู้หรือไม่ว่ายาลดการดูดซึมไขมันยังมีผลต่อยาอื่น ๆ รวมถึงมีข้อควรระวัง ดังนี้

    1. หากมื้อไหนไม่ได้รับประทานอาหารหรือรับประทานอาหารที่ไม่มีไขมัน สามารถเว้นการกินยาลดการดูดซึมไขมันได้

    2. ห้ามปรับขนาดยาให้มากขึ้นหรือลดลงกว่าที่แพทย์กำหนดหรือที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยา

    3. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดการดูดซึมไขมันในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน และมีการดูดซึมอาหารผิดปกติ

    4. ยาลดการดูดซึมไขมันมีผลต่อการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน (Vitamin A,D,E และ K) และเบต้าแคโรทีนของร่างกาย ทำให้ได้รับวิตามินดังกล่าวลดลง

    5. ยาลดการดูดซึมไขมันมีผลต่อยาที่ละลายในไขมัน เช่น รักษาอาการหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ (Amiodarone) และยากดภูมิคุ้มกัน (Cyclosporine) ทำให้ระดับยาดังกล่าวในเลือดลดลง ลดประสิทธิภาพในการรักษา

    6. ยาลดการดูดซึมไขมันรบกวนการดูดซึม Vitamin K จึงอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin) และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกได้

    ผู้ที่มีโรคประจำตัวสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร เช่น เบาหวาน นิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี หรือต่อมไทรอยด์ ควรแจ้งแพทย์ก่อนการใช้ยา

    ก่อนเลือกใช้ยาลดการดูดซึมไขมัน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพื่อหาสาเหตุและแนะนำวิธีรักษาได้อย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์ยาลดน้ำหนักผ่านช่องทางออนไลน์หรือสื่อโฆษณาด้วยถ้อยคำและภาพชวนเชื่อต่าง ๆ เพราะอาจเสี่ยงได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน ควรพึงระวังไว้ว่ายาลดการดูดซึมไขมันไม่จำเป็นต้องใช้ในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินทุกคน อย่านำมาใช้พร่ำเพรื่อเพื่อหวังผลในการลดน้ำหนัก รวมถึงคนที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องโรคอ้วน แต่อยากหุ่นดี ผอมเพรียวแต่หวังผลควบคุมน้ำหนักด้วย เพราะมีผลเสียที่ต้องพึงระวังตามที่กล่าวมา การควบคุมน้ำหนักที่ดีควรมีการดูแลภาวะโภชนาการให้ถูกต้องและออกกำลังกายสม่ำเสมอจึงเป็นวิธีแรกที่ปลอดภัยและควรเลือกใช้

  • น่ารู้ อย. เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับยาเลื่อนประจำเดือน
    เชื่อว่าสาว ๆ หลายคนอาจจะเคยเจอปัญหาเกี่ยวกับการมีประจำเดือนในช่วงเวลาที่ไม่ต้องการให้มี
    ดังนั้น การใช้ยาเลื่อนประจำเดือนจึงเป็นทางออกหนึ่งที่สาวๆ หลายคนเลือกใช้เพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว
    ยาเลื่อนประจำเดือนควรใช้อย่างไร สามารถใช้ตามใจชอบได้หรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบ

    ยาเลื่อนประจำเดือน เป็นยาเม็ดที่มีตัวยาสำคัญคือ นอร์เอทีสเตอโรน (Norethisterone) ขนาด 5 มิลลิกรัม เป็นฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรน ออกฤทธิ์มีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน (จนกว่าจะหยุดยา) จึงมีข้อบ่งใช้ในการเลื่อนประจำเดือน

    คำแนะนำเกี่ยวกับการกินยาเลื่อนประจำเดือน

    1. ใช้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น โดยต้องไปพบแพทย์หรือเภสัชกรก่อน

    2. ควรเริ่มกินอย่างน้อย 3 วัน ก่อนวันที่จะมีประจำเดือน

    3. การกินยาก่อนมีประจำเดือนแค่ 1 วัน หรือตอนที่กำลังมีประจำเดือน อาจมีผลช่วยลดปริมาณ และจำนวนวันของการมีประจำเดือน แต่ประจำเดือนอาจมาซ้ำได้ในช่วงเวลาใกล้ ๆ หลังหยุดยาได้

    4. การใช้ยานาน ๆ หรือบ่อยมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรือไม่มาเลย นอกจากนี้ อาจพบอาการปวดหัว
    คัดเต้านม คลื่นไส้ เวียนศีรษะได้

    5. ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

    6. ห้ามใช้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน

    7. ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคตับขั้นรุนแรง

    8. ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม

    ก่อนจะใช้ยาอะไร ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง และไม่ควรซื้อยามาใช้เอง

  • อย. ตรวจสอบแล้ว ไม่พบยาแก้ไอที่ผลิตจากโรงงานในประเทศอินเดีย ที่พบสารปนเปื้อนจำหน่ายในไทย
    อย. ตรวจสอบแล้ว ยาแก้ไอที่ผลิตจากโรงงานในประเทศอินเดียที่ตรวจพบสารปนเปื้อนไม่พบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวในประเทศไทยและไม่พบข้อมูลการขายบนอินเทอร์เน็ตรวมทั้งไม่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูปและวัตถุดิบที่มาจากบริษัทที่ผลิตยาดังกล่าว แนะผู้บริโภคซื้อยาจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

    นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศเตือนพบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายในยาแก้ไอ "ไกวเฟนิซิน ทีจี" (Guaifenesin TG syrup) ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศอินเดีย โดยตรวจพบการปนเปื้อนสารไดเอทิลีนไกลคอล และเอทิลีนไกลคอล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบแล้วไม่พบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าว และไม่พบข้อมูลการขายบนอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย รวมทั้งไม่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูปและวัตถุดิบที่มาจากบริษัท QP Pharmachem Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาด้วย

    สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อและได้รับยาที่มีความปลอดภัยควรซื้อจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตโดยสังเกตป้ายที่แขวนอยู่ในร้านมีข้อความว่าสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน หรือสถานที่ขายยาแผนโบราณ ซึ่งจะมีเภสัชกรประจำร้านยาให้คำแนะนำ และก่อนใช้ยาควรตรวจสอบภาชนะบรรจุยาโดยต้องมีฉลากและเอกสารกำกับยาครบถ้วนและผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลการขออนุญาตผลิตภัณฑ์ได้ที่ www.fda.moph.go.th หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai ทั้งนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

  • ยาชุดที่มาพร้อมกับอันตรายเป็นชุด
    หลายครั้งที่เห็นยาชุดขายตามตลาดนัด หรือคนแถวบ้านเอามาขายบ้าง อ้างว่ายาดี รักษาหายได้ทุกโรค หรือบางครั้งก็บอกว่าเป็นยาแก้ปวดขนานแรงที่สามารถแก้ปวดให้หายชะงัดหลายคนซื้อยาชุดรับประทานเพราะหวังจะให้โรคที่เป็นอยู่หายได้ไว แต่ขอเตือนไว้ก่อนเลยว่ายาชุดนั้นมีอันตรายต่อร่างกายมาก ไม่ควรซื้อมารับประทาน

    ยาชุด คือ การจัดยาหลายเม็ดหรือหลายชนิดรวมกันไว้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้กินเป็นชุด โดยอันตรายจากการรับประทานยาชุดสามารถแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้

    1. การแพ้ยารุนแรง

    เนื่องจากในยาชุดมักจะไม่มีฉลาก หรือ แสดงฉลากไม่ครบถ้วน ทำให้ไม่รู้ว่ามียาที่แพ้ปนอยู่หรือไม่ เมื่อรับประทานเข้าไปจึงส่งผลทำให้เกิดการแพ้ยารุนแรงได้

    2. ผลเสียจากยาสเตียรอยด์

    ในยาชุดมักมีการลักลอบใส่ยาสเตียรอยด์ เช่น Prednisolone ซึ่งหากได้รับเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยาสเตียรอยด์ได้ เช่น กระดูกพรุน มีอาการบวมตามใบหน้า ผิวหนังบาง เลือดออกในกระเพาะอาหาร เบาหวาน และความดันโลหิตสูง

    3. การได้รับยาซ้ำซ้อนเกินขนาด

    เนื่องจากเกิดจากการผสมของยาหลายชนิด บางตัวอาจมีส่วนผสมที่ซ้ำซ้อนกับยาตัวอื่น ทำให้ได้รับยาชนิดเดียวกันจากยาหลายตัว มากเกินขนาดที่ควรจะเป็น
    หลายครั้งมีการจัดยาเป็นชุดแล้วโฆษณาว่าเป็นยาแก้ปวดที่เห็นผลเร็ว หรือโฆษณาว่าเป็นยาครอบจักรวาล ซึ่งควรพึงระวังว่าการรับประทานยาชุดนั้นมีอันตรายตามมามากมาย หากมีอาการเจ็บป่วยหรือหากต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

  • รวมช่องทางการร้องเรียนของ อย.
    ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่าจะเป็น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ ขายตามท้องตลาดและทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีทั้งผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและผลิตภัณฑ์ที่ทำผิดกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในบทความนี้จึงมาแนะนำตัวอย่างเรื่องที่ควรร้องเรียนและช่องทางในการร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ



    ตัวอย่างประเด็นที่ควรร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ

    1. ผลิตภัณฑ์ไม่มีเลข อย.

    2. ผลิตภัณฑ์สวมเลข อย. ของผลิตภัณฑ์อื่น (เช็กได้ที่ www.oryor.com เมนูตรวจเลขผลิตภัณฑ์)

    3. ผลิตภัณฑ์โฆษณาโอ้อวด หลอกลวง หรือทำให้เข้าใจผิด

    4. ร้านขายยา ขายยาอันตรายโดยไม่มีเภสัชกรประจำร้าน

    5. ผลิตภัณฑ์อาหารเสียก่อนถึงวันหมดอายุ

    6. ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากภาษาไทย หรือการแสดงฉลากไม่ครบถ้วน



    ช่องทางการร้องเรียนของ อย.

    ผู้บริโภคสามารถแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ในช่องทางต่าง ๆ ของ อย. เช่น



    1. Line: @FDATHAI (เมนู แจ้งเรื่องร้องเรียน)
    2. www.oryor.com (เมนู แจ้งเรื่องร้องเรียน)
    3. www.fda.moph.go.th (เมนู เรื่องร้องเรียน)
    4. ทางโทรศัพท์ ติดต่อ 02 590 1556 หรือสายด่วน อย. 1556
    5. ทางอีเมล์: 1556@fda.moph.go.th
    6. ทางจดหมาย ส่งมาที่ ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004

  • [ความรู้ อย.] แอฟลาทอกซิน สารพิษจากเชื้อราในอาหารแห้ง

    ประเทศไทยมีภูมิอากาศร้อนชื้น ยิ่งถ้าเข้าสู่ฤดูฝน อากาศจะชื้นมากขึ้น ซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะกับการเกิดเชื้อราในอาหาร โดยเฉพาะเชื้อราบางกลุ่มที่สามารถสร้างสาร “แอฟลาทอกซิน” ซึ่งเป็นสารพิษที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

    องค์การอนามัยโลกกำหนดให้แอฟลาทอกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่งโดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง

    สารแอฟลาทอกซินสามารถพบได้ทั่วไปในอาหาร และผลผลิตทางการเกษตร อาหารที่มักพบว่ามีสารแอฟลาทอกซิน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประเภทแป้ง อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสงและยังพบปนเปื้อนอยู่ใน ข้าวโพด มันสำปะหลัง อาหารแห้ง เช่น ผักและผลไม้อบแห้ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง ธัญพืช เนื้อมะพร้าวแห้ง หัวหอมแห้ง กระเทียมแห้ง พริกแห้ง พริกไทย งา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วอื่น ๆ

    ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับสารแอฟลาทอกซินในระยะแรกจะไม่มีอาการแต่จะแสดงอาการเมื่อร่างกายได้รับสารพิษในปริมาณมาก ๆ ทำให้เกิดอาการอาเจียน ทองเดิน หรือหากรับประทานปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้งจะไปสะสมเป็นพิษที่ตับทำให้เนื้อตับมีไขมันสะสมมากเซลล์ตับถูกทำลายจนอักเสบมีเลือดออกจนตับแข็ง อาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง หรือโรคตับอื่น ๆ ทั้งนี้ ระดับของความเป็นพิษขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ปริมาณที่ได้รับ ความถี่ของการรับประทาน อายุ เพศ การทำงานของเอนไซม์ในตับ และปัจจัยโภชนาการอื่น ๆ

    วิธีการป้องกันสารแอฟลาทอกซิน

    1.เลือกซื้ออาหารหรือวัตถุดิบแห้งที่อยู่ในสภาพใหม่บรรจุภัณฑ์ได้มาตรฐาน ไม่แตกหรือชำรุด ไม่มีเชื้อรา สะอาด

    2.ต้องไม่มีกลิ่นเหม็นอับ ส่งกลิ่นเหม็น หรือชื้น

    3.ไม่เก็บอาหารแห้งไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อรา ควรเก็บในที่แห้ง ไม่อับชื้น

    4.นำอาหารแห้งไปตากแดดจัด ๆ เพราะสามารถช่วยลดความชื้นในอาหารได้

    5.หากอาหารมีราขึ้น ควรทิ้งให้หมด ไม่ควรตัดเฉพาะส่วนที่ขึ้นราทิ้งไป เพราะอาจมีสารแอฟลาทอกซิน กระจายไปทั่ว


  • อย. ชี้แจง ยาเสพติดในซองเครื่องดื่มเกลือแร่ คอลลาเจน และกาแฟ เป็นวิธีการปกปิดอำพรางเจ้าหน้าที่รัฐของนักค้ายาเสพติด

    อย. ชี้แจง ยาเสพติดในซองเครื่องดื่มเกลือแร่ คอลลาเจน และกาแฟ เป็นวิธีการปกปิดอำพรางเจ้าหน้าที่รัฐของนักค้ายาเสพติด
    จากกรณีที่มีข่าวเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามพบยาเสพติด เช่น ยาอี ยาเค ผสมอยู่ในซองเครื่องดื่มเกลือแร่ ซองคอลลาเจน และซองกาแฟ ลักลอบขายตามสถานบันเทิงและช่องทางออนไลน์ นั้น เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การนำยาเสพติดมาใส่ในซองเครื่องดื่มเกลือแร่ คอลลาเจน และกาแฟ เป็นการปกปิดอำพรางของนักค้ายาเสพติดเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมจากเจ้าหน้าที่
    ฝ่ายปราบปราม และขายให้เฉพาะกลุ่มผู้เสพยาเสพติด ในราคาที่แพงกว่าสินค้าทั่วไป โดยขายราคา 1,200-1,500 บาท/ซอง จากการตรวจสอบจนถึงขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังไม่พบการปนเปื้อน ยาเสพติดในเครื่องดื่มเกลือแร่ คอลลาเจน และกาแฟ ที่จำหน่ายโดยทั่วไป จึงขอให้พี่น้องประชาชนโปรดวางใจ ท่านสามารถบริโภคเครื่องดื่มทั้ง 3 ประเภท ที่ขอ อย. ถูกต้อง และมีเลขสารบบอาหาร ได้ตามปกติ ไม่ต้องหวั่นเกรงว่าจะบริโภคยาเสพติดโดยไม่รู้ตัว

    หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

  • ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) ร่วม อย. รวบหมอจีน บุกทลายสถานที่ลักลอบผลิต และขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรเถื่อน
    25 เมษายน 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.ฉัตรชัย พานิชศุภภรณ์ ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติ กรณีตรวจค้นสถานที่ลักลอบผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรเถื่อน ย่านเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน จำนวนกว่า 60,000 แคปซูล และเครื่องจักรสำหรับผลิตสมุนไพรจีน มูลค่ากว่า 800,000 บาท

    สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับแจ้งจากผู้บริโภคว่า มีเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “หมอเถียรแพทย์แผนจีน” มีการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรจีนทั้งชนิดแคปซูลและน้ำสมุนไพรจีน ในลักษณะกล่าวถึงสรรพคุณการรักษาที่เกินจริง โดยมีการกล่างอ้างว่า ยาสมุนไพรขนานเดียวสามารถรักษาอาการต่าง ๆ ได้ครอบจักรวาล เช่น สามารถปรับสมดุลร่างกาย รักษาเรื่องการนอนไม่หลับ คอแห้ง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตาแห้ง เวียนหัว ไมเกรน กรดไหลย้อน ขับถ่ายไม่ดี ชาปลายมือปลายเท้า ออฟฟิตซินโดรม ปวดหลัง ปวดคอ บำรุงตับและสรรพคุณอีกหลายประการ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในเพจเฟซบุ๊กนั้น ไม่มีการขออนุญาตในการผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจนกระทั่งทราบว่ามีแหล่งจำหน่าย และผลิตสมุนไพรอยู่ที่พื้นที่เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร

    ต่อมาในวันที่ 21 เมษายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายค้นของศาลจังหวัดพระโขนง เข้าตรวจค้นอาคารแห่งหนึ่งในเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรชนิดแคปซูล จำนวน 1,000 กระปุก (60,000 แคปซูล), ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจีนชนิดน้ำบรรจุถุง รอการจำหน่าย กว่า 700 ถุง, อุปกรณ์การผลิตยาสมุนไพร, หม้อต้มน้ำสมุนไพรอัตโนมัติ 12 เครื่อง, เครื่องบรรจุยาชนิดแคปซูล จำนวน 1 เครื่อง และพยานหลักฐานอื่น ๆ จึงได้ตรวจยึดเป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี

    จากการตรวจสอบพบว่า สถานที่ดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรจีนโดยไม่มีการขออนุญาตในการผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อีกทั้งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบในที่เกิดเหตุ ไม่ได้มีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผู้บริโภคจึงไม่สามารถทราบได้เลยว่า มีส่วนผสมอะไรในนั้นบ้าง จึงมีการอ้างถึงสรรพคุณในลักษณะสมุนไพรขนานเดียวรักษาโรคครอบจักรวาลเช่นนี้ พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ได้แจ้งข้อกล่าวหา นาย จวิ้น เฉียง สงวนนามสกุล อายุ 45 ปี ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสมุนไพรดังกล่าว ฐาน “ผลิต และขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหาว่า ตนจบแพทย์แผนจีนมาจากประเทศจีน จากนั้นได้ขอใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ แพทย์แผนจีน (ใช้ชื่อว่าหมอเถียร) เนื่องจากมีความรู้เรื่องสมุนไพรจีน จึงได้ทำการผลิตสมุนไพรบรรจุด้วยตนเอง โดยไม่ได้ขออนุญาตผลิตและขายแต่อย่างใด และเปิดจำหน่ายมาแล้วมากว่า 1 ปี

    เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

    1.พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562

    - ฐาน “ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต”ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน

    สามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

    - ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

    ภก.ฉัตรชัย พานิชศุภภรณ์ ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ในการบำบัด บรรเทารักษา ป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการเกิดโรค อย. ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยสามารถตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรใดได้รับอนุญาตแล้ว จากเลขที่ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับ หรือเลขที่แจ้งรายละเอียด หรือเลขที่รับจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่วนการขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้น ผู้ขายต้องมีใบอนุญาตขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยกเว้นการขาย “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรขายทั่วไป” ที่ผู้ขายไม่ต้องมีใบอนุญาตขาย ซึ่งสังเกตได้จากบนฉลากผลิตภัณฑ์ ระบุคำว่า “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรขายทั่วไป” เป็นตัวอักษรอยู่ในกรอบสีเขียว จึงขอฝากพี่น้องประชาชน ให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับอนุญาต และซื้อจากผู้ขายที่มีหลักแหล่งชัดเจน กรณีสงสัยว่าผลิตภัณฑ์ได้รับอนุญาตหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จาก www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

    พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรและยามารับประทานเพื่อรักษาโรค ควรเลือกซื้อจากร้านขายยา หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับอนุญาต เนื่องจากเป็นสิ่งที่ร่างกายรับประทานและส่งผลโดยตรงกับร่างกาย กระบวนการผลิตต้องได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ และขอเตือนผู้ที่ลักลอบผลิต และขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขยายผลและกวาดล้างต่อไป หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด เพราะท่านกำลังทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย เกิดผลกระทบกับร่างกายและเสียโอกาสได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค

  • อย. ห่วงใย การดูแลสุขภาพ เมื่อท้องร่วง-ท้องเสีย
    เมื่อเกิดอาการท้องเสียแล้ว ต้องจิบเกลือแร่แบบไหนกันแน่นะ หลายคนมักจะเข้าใจผิดคิดว่าสามารถใช้เกลือแร่แบบไหนก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วถ้าเลือกประเภทของเกลือแร่ไม่ถูก อาจจะทำให้อาการท้องเสียเป็นมากขึ้นได้ วันนี้ อย. จะพาไปทำความรู้จักประเภทของเกลือแร่กัน

    เกลือแร่ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีอยู่ 2 ประเภท คือ

    1. เกลือแร่สำหรับคนที่ท้องเสีย (Oral Rehydration Salt ย่อว่า ORS)

    2. เกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย (Oral Rehydration Therapy ย่อว่า ORT)

    เกลือแร่ทั้ง 2 ประเภทนั้นแต่งต่างกันสิ้นเชิง โดยเกลือแร่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย จะมีปริมาณเกลือแร่หรือปริมาณโซเดียมสูงกว่า ส่วนเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ปริมาณน้ำตาลจะสูงกว่า

    การเสียน้ำจากอาการท้องเสีย เป็นภาวะที่ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ในทันที ร่างกายจึงต้องการน้ำและเกลือแร่มาทดแทน ส่วนการเสียน้ำหรือเสียเหงื่อจากการออกกำลังกายนั้น ร่างกายจะเสียน้ำและน้ำตาลเป็นหลัก โดยจะเสียเกลือแร่ในปริมาณที่น้อยมาก ดังนั้นร่างกายจึงต้องการน้ำและน้ำตาลมาทดแทน หากเกิดอาการท้องเสีย แต่ไปจิบน้ำเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกายจะยิ่งเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดอาการท้องเสียได้มากขึ้น เนื่องจากเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกายจะมีปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่บางชนิดที่สูงกว่า ทำให้ร่างกายดึงน้ำเข้ามาในทางเดินอาหาร ส่งผลให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้น กระตุ้นการถ่ายเหลวมากขึ้น ดังนั้นก่อนที่จะเลือกใช้เกลือแร่ ควรพิจารณาให้ดีก่อนว่าเกลือแร่นั้นเป็นเกลือแร่สำหรับผู้ที่ท้องเสีย หรือเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย สามารถสังเกตง่าย ๆ ที่ฉลากบรรจุภัณฑ์โดยเกลือแร่สำหรับผู้ที่ท้องเสีย จะระบุเลขทะเบียนตำรับยา เช่น 2A999/99 และระบุใช้สำหรับผู้ที่ท้องเสีย ส่วนเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย จะระบุเลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย. และระบุใช้สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย

  • อย. ห่วงใย การใช้ยาให้ปลอดภัย…ในผู้สูงอายุ
    การใช้ยาในผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องใช้รักษาโรคและอาการเจ็บป่วยต่างๆ แต่เนื่องจากผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ซึ่งไม่แข็งแรงสมบูรณ์เหมือนก่อนก็อาจก่อให้เกิดอันตรายในการใช้ยาได้

    สำหรับแนวทางในการใช้ยาอย่างปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ มีดังนี้

    1. ควรติดตามรับการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

    2. ศึกษารูปร่าง ลักษณะ และสรรพคุณของยาที่ใช้อยู่ พร้อมทั้งแจ้งแพทย์เมื่อมีอาการข้างเคียงซึ่งอาจเกิดจากยาที่ได้รับ

    3. ผู้สูงอายุไม่ควรซื้อยาสมุนไพร , ยาหม้อ รวมถึงยาลูกกลอนมากินเอง เพราะเสี่ยงต่อการรับยาที่อาจผสมยาประเภทสเตียรอยด์ ซึ่งมีผลเสียในระยะยาว

    4. ไม่ควรเก็บสะสมยาเก่า แต่ควรเอายา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้อยู่ทั้งหมดไปด้วยทุกครั้งเมื่อต้องพบแพทย์ เพื่อหลีกเลี่ยงและลดความซ้ำซ้อนของการใช้ยา ผลเสียของยา และยาตีกัน

    5. ควรกินยาตามแพทย์สั่ง ไม่ปรับเพิ่มลดหรือหยุดยาเอง เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา

    6. ในรายที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือขยับร่างกายไม่ได้ ควรมีผู้ดูแลช่วยจัดยาให้แต่ไม่ควรแบ่งยาล่วงหน้า ถ้าจำเป็นควรจัดแบ่งแบบวันต่อวัน หากยาอยู่ในแผงฟอยล์หรือซองสีชา ควรตัดแบ่งทั้งฟอยล์และไม่แกะยาออกจากแผงฟอยล์



    สำหรับลูกหลานอาจช่วยแนะนำและทบทวนผู้สูงอายุทุกครั้งที่ได้รับยาใหม่ ช่วยตั้งนาฬิกาปลุก ตั้งแจ้งเตือนในโทรศัพท์มือถือ หรือจดปฏิทินไว้เพื่อป้องกันการลืมกินยา นอกจากนี้หากต้องการจะแบ่งยาตามมื้อไว้ล่วงหน้าควรตัดแบ่งทั้งฟอยล์และไม่แกะยาออกจากแผงฟอยล์หรือแผงยาเพราะยาอาจเสื่อมสภาพได้



    ทั้งนี้ยาที่ควรระมัดระวังการใช้ในผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ได้แก่

    - ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด : ยา 3 กลุ่มนี้ทำให้เกิดอาการง่วงซึม มึนงง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างใช้ยาได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงเพื่อความปลอดภัย

    - ยาแก้ปวดอักเสบ (NSAIDs) : ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงคือทำให้ทางเดินอาหารเกิดการระเคือง และหากกินอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ นอกจากนี้ยากลุ่มนี้ยังมีผลทำให้ไตวายอีกด้วย

    - ระวังการใช้ยากลุ่มโรคประจำตัว เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาเบาหวาน ห้ามหยุดยา เพิ่มหรือลดขนาดยาเองอย่างเด็ดขาด และควรกินให้ตรงเวลาทุกวัน

    หากมีข้อสงสัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาหรือสุขภาพอย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อที่จะได้ใช้ยาอย่างปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้สูงอายุนั่นเอง


  • อย. แนะเลือกใช้ครีมกันแดดให้ปลอดภัยในหน้าร้อน
    หน้าร้อนนี้ประชาชนมักเดินทางท่องเที่ยวไปทะเล เล่นน้ำตก สาดน้ำสงกรานต์หรือมีกิจกรรมกลางแจ้ง อาจได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่ทำให้ผิวหมองคล้ำเหี่ยวย่นก่อนวัย เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แนะการเลือกซื้อครีมกันแดดเพื่อป้องกันภัยจากรังสียูวี โดยดูได้จากค่า PA (Protection grade of UVA) และค่า SPF (Sun Protection Factor)

    ค่า PA แสดงความสามารถในการป้องกันรังสียูวีเอ (ยิ่ง + มากยิ่งป้องกันได้ดี) ในขณะที่ค่า SPF จะแสดงความสามารถในการปกป้องผิวจากรังสียูวีบี (ยิ่งมากยิ่งป้องกันได้ดี โดยค่า SPF สูงกว่า 50 ในฉลากจะแสดงเป็น SPF 50+) ผู้บริโภคควรเลือกซื้อครีมกันแดดให้เหมาะสมกับกิจกรรมและช่วงเวลาที่อยู่กลางแจ้ง กรณีที่มีกิจกรรมทางน้ำหรือกิจกรรมที่ต้องโดนน้ำ ให้เลือกครีมกันแดดที่กันน้ำ โดยดูจากคำว่า Water Resistant นอกจากนี้ควรใช้ครีมกันแดดให้ถูกวิธีและปฏิบัติตามคำเตือนบนฉลากอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์รูปแบบสเปรย์ควรใช้ฉีดพ่นบริเวณลำตัวเท่านั้น ไม่ควรฉีดพ่นบริเวณใบหน้าและระวังอย่าใช้ใกล้เปลวไฟ หากใช้ครีมกันแดดแล้วมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ให้หยุดใช้ รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์

    รองเลขาธิการฯ แนะเพิ่มเติมว่า ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ ควรระวังการเกิดฮีทสโตรกซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จึงควรสังเกตตนเองและคนรอบข้าง หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ตัวร้อน ไม่มีเหงื่อ อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40.5°C กระวนกระวาย เพ้อ สับสน ชัก ซึมลงหรือหมดสติ ควรรีบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทดี ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออก เพื่อให้ร่างกายได้ระบายความร้อน นำผ้าเปียกวางตามร่างกาย เช็ดตามข้อพับต่างๆ เพื่อทำให้อุณหภูมิเย็นลงและรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

  • โกรทฮอร์โมนในผู้ใหญ่ ช่วยชะลอวัย จริงหรือ ?
    โกรทฮอร์โมน (Growth hormone, GH) ไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะในวัยเด็กที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตเท่านั้นแต่มีความสำคัญในทุกช่วงอายุ เพราะทำหน้าที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกาย สร้างกล้ามเนื้อ กระตุ้นการสร้างมวลกระดูก ช่วยย่อยน้ำตาลและไขมัน รวมถึงส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ เมื่ออายุมากขึ้นปริมาณโกรทฮอร์โมนถูกผลิตในร่างกายลดลง ผู้ใหญ่ที่ขาดหรือมีโกรทฮอร์โมนไม่เพียงพอ จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือความบกพร่องหลายอย่าง เช่น ไขมันลงพุง โรคเบาหวาน โรคของหัวใจและหลอดเลือด กระดูกบาง อ่อนล้าง่าย ผิวหนังแห้งและหย่อนยาน สุขภาวะทางจิตลดลง ไปจนถึงไม่ชอบเข้าสังคม

    ภาวะการขาดโกรทฮอร์โมนในผู้ใหญ่มาจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ 1.) การขาดโกรทฮอร์โมนต่อเนื่องมาจากวัยเด็ก และ 2.) การขาดโกรทฮอร์โมนที่เกิดขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อ โดยผู้ใหญ่ที่ขาดฮอร์โมนชนิดนี้ควรได้รับยาโกรทฮอร์โมนทดแทน ซึ่งจัดเป็นยาควบคุมที่ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งใช้ยาและติดตามผลการรักษาเพื่อให้เกิดประสิทธิผล และความปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยปริมาณและระยะเวลาการใช้ยานั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ยาโกรทฮอร์โมน ใช้รักษาผู้ที่ร่างกายบกพร่องในการสร้างฮอร์โมนชนิดนี้แต่กำเนิดหรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจำเป็นต้องได้รับโกรทฮอร์โมนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียจากการขาดโกรทฮอร์โมนและเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจากประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้นจึงทำให้มีการนำยาโกรทฮอร์โมนมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำมาใช้ในการลดไขมันส่วนเกิน เสริมสร้างมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ เพิ่มการสร้างคอลลาเจน ช่วยให้การออกกำลังกายและการสูบฉีดเลือดของหัวใจได้ดี ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิด

    อย. ไม่ได้อนุญาตให้ใช้ยาโกรทฮอร์โมนเพื่อวัตถุประสงค์การฉีดให้ชะลอวัยหรืออ่อนเยาว์ เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ทำให้เกิดโรคเบาหวาน เสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกและโรคมะเร็ง ปวดและบวมบริเวณแขน-ขา ความดันโลหิตสูง และปวดศีรษะ ซึ่งการใช้ยาโกรทฮอร์โมนเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวถือเป็นการใช้ยานอกเหนือจากที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยา ยาโกรทฮอร์โมนอนุญาตให้จำหน่ายแก่โรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น หากแพทย์ที่จ่ายยาชนิดนี้ให้คนไข้ด้วยวัตถุประสงค์ของการชะลอวัย ถือมีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน

    ดังนั้น อย่าหลงเชื่อโฆษณาหรือหาซื้อยาโกรทฮอร์โมนมาใช้ด้วยตัวเองเพื่อหวังต้านความชรา ทั้งจากสื่อออนไลน์ คลินิกความงามต่าง ๆ เพราะไม่เป็นความจริง หากอยากฟื้นฟูสุขภาพกายและใจให้กลับมาสดใสแข็งแรงอีกครั้ง สามารถทำได้ด้วยตัวเองง่าย ๆ เพียงนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารจานด่วน ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ จัดการกับความเครียดให้ดี และเลิกยาหรือสารเคมีที่ทำลายสุขภาพ เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ เป็นต้น

  • ความรู้ อย. ระวังการใช้เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน
    เมื่อคุณนึกถึงเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนคุณนึกถึงอะไรบ้าง ด้วยชื่อที่มักใช้เรียกผิด ๆ ตามสื่อโฆษณาว่า คือ “เครื่องดื่มชูกำลัง”หรือ “เครื่องดื่มบำรุงกำลัง” ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในคุณประโยชน์หรือโทษต่อร่างกายของเครื่องดื่มชนิดนี้ เนื่องจากบางส่วนไม่ทราบว่าส่วนผสมหลักคือกาเฟอีน

    สารกาเฟอีนหรือคาเฟอีน (Caffeine) เป็นสารที่ร่างกายจะดูดซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ไปมีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนของโลหิต อาจก่อให้เกิดอันตรายหากได้รับในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นประจำ
    เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ และให้แสดงข้อความในฉลากว่า “มีกาเฟอีน” และ“ห้ามดื่มเกินวันละ ........ (ระบุภาชนะที่ใช้บรรจุ เช่น กระป๋อง ขวด เป็นต้น) เพราะอาจทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ผู้มีโรคประจำตัวหรือผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ก่อน”

    ผู้ที่จะดื่มเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนควรอ่านคำเตือนในฉลาก ปริมาณกาเฟอีนที่ได้รับต่อวันต้องไม่เกิน 400 มิลลิกรัม

    ดังนั้น ควรให้ความสำคัญในเรื่องของปริมาณกาเฟอีนที่ได้รับต่อวันและบริโภคแต่พอดี ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนหลายชนิดพร้อมกันหรือในเวลาใกล้ ๆ กัน อาจส่งผลเสียจากการได้รับปริมาณกาเฟอีนมากเกินไป ทั้งนี้ความไวต่อกาเฟอีนจะแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคนด้วย

  • อย. ตรวจพบจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์เลอรส ก๋วยเตี๋ยวเรือกึ่งสำเร็จรูปเส้นเล็ก
    อย. ตรวจพบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค Bacillus cereus เกินมาตรฐาน ในผลิตภัณฑ์เลอรส ก๋วยเตี๋ยวเรือกึ่งสำเร็จรูปเส้นเล็ก วันผลิต 01.02.23 วันหมดอายุ 01.05.23
    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี เก็บตัวอย่างอาหารจากสถานที่ผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย ชื่อ ก๋วยเตี๋ยวเลอรส เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ส่งตรวจวิเคราะห์ โดยมีรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ดังนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุถุงพลาสติกสีแดงฉลากระบุ “เลอรสเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน ก๋วยเตี๋ยวเรือกึ่งสำเร็จรูปเส้นเล็ก เลขสารบบอาหาร 12-2-01765-6-0002 MFD.01.02.23 EXP.01.05.23 ผลิตโดย : ก๋วยเตี๋ยวเลอรส เลขที่ 9/10 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี จัดจำหน่ายโดย : บริษัท เลอรส อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด เลขที่ 408/6 หมู่ 7 ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ” เครื่องปรุงที่บรรจุในซองก๋วยเตี๋ยว รายงานผลการตรวจวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจพบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค Bacillus cereus เท่ากับ 6,600 CFU/กรัม ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 416) พ.ศ. 2563 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้ตรวจพบ Bacillus cereus ในเครื่องปรุงที่บรรจุอยู่ในภาชนะบรรจุ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ได้ไม่เกิน 1,000 CFU/กรัม จึงจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน
    ข้อแนะนำ
    ขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ “เลอรส เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนก๋วยเตี๋ยวเรือกึ่งสำเร็จรูปเส้นเล็ก” ที่ฉลากระบุรายละเอียดข้างต้นมารับประทาน ทั้งนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ


  • ความรู้ อย. ร้อนนี้ เลือกรับประทานไอศกรีมหรือน้ำแข็งอย่างไรดี
    เมื่อหน้าร้อนมาถึง สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือของเย็น ๆ ที่จะช่วยให้ดับกระหายคลายร้อน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกเพศทุกวัย ก็จะต้องวิ่งเข้าหาไอศกรีมเย็น ๆ หรือน้ำแข็งเย็น ๆ มารับประทานคลายร้อนกัน วันนี้เรามีวิธีเลือกซื้อไอศกรีมและน้ำแข็งหลอดบรรจุถุงมาฝากกัน

    วิธีเลือกซื้อไอศกรีมในภาชนะบรรจุ

    1. อ่านฉลากอาหารก่อนซื้อ โดยฉลากที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์ต้องมีข้อความภาษาไทย และมีรายละเอียด ดังนี้ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ส่วนประกอบ ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า วันเดือนและปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน วิธีการเก็บรักษา และข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร เป็นต้น

    2. ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ”เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับอาหารหวาน มัน เค็ม มากเกินไป ที่เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เนื่องจากกลุ่มไอศกรีมที่ผ่านเกณฑ์สารอาหาร และได้การรับรองให้ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวต้องมีค่าพลังงานทั้งหมด =130 กิโลแคลอรี่ต่อหน่วยบริโภค น้ำตาลทั้งหมด ≤20 กรัม ต่อ 100 กรัม โซเดียม ≤100 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม

    3. ลักษณะภาชนะบรรจุ ต้องสะอาด ปิดสนิท ไม่ฉีกขาด ไอศกรีมไม่รั่วซึมออกมา

    4. ลักษณะไอศกรีม ตัวไอศกรีมต้องไม่เหลวเหมือนเคยละลายมาแล้ว มีสี กลิ่นรส ตามลักษณะของไอศกรีมนั้น ๆ

    5. สถานที่จำหน่าย ต้องมีตู้แช่แข็งไอศกรีม จัดเป็นสัดส่วนเรียบร้อย ไม่แช่ปะปนกับอาหารหรือสิ่งอื่น ๆ

    วิธีเลือกซื้อน้ำแข็งหลอดบรรจุถุง

    1. อ่านฉลากอาหารก่อนซื้อ โดยฉลากบนบรรจุภัณฑ์น้ำแข็ง ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยแต่จะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ ระบุรายละเอียดของชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร มีข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ผู้นำเข้า และประเทศผู้ผลิตสำหรับน้ำแข็งนำเข้าแล้วแต่กรณี น้ำหนักสุทธิเป็นกรัมหรือกิโลกรัม

    2. ลักษณะภาชนะบรรจุ ถุงที่บรรจุต้องสะอาด ปิดสนิทแน่นหนา ไม่ฉีกขาด

    3. ลักษณะน้ำแข็ง ต้องใส สะอาด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีสิ่งแปลกปลอมในก้อนน้ำแข็ง เมื่อน้ำแข็งละลายจะต้องใส ไม่มีตะกอนขาวขุ่น ๆ อยู่ก้นแก้ว

    4. สถานที่จำหน่าย ตู้เก็บต้องสะอาดและถูกสุขลักษณะ

  • อย. ตรวจพบปริมาณแคดเมียมเกินมาตรฐานในผลิตภัณฑ์โนริ (สาหร่ายทะเลย่าง) วันผลิต 2022.11.3 วันหมดอายุ 2023.5.2
    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร ณ ด่านอาหารและยาลาดกระบัง นำเข้าโดยบริษัท เจเอฟซี (ไทยแลนด์) จำกัด ส่งตรวจวิเคราะห์โดยมีรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ดังนี้ “ผลิตภัณฑ์โนริ (สาหร่ายทะเลย่าง)” ผลิตโดยบริษัท ยามาโทคุ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เลขสารบบอาหาร 10-3-07157-5-0780 ไม่ระบุรุ่นการผลิต วันผลิต 2022.11.3 วันหมดอายุ 2023.5.2 ขนาดบรรจุ 250 กรัม ผลการตรวจวิเคราะห์ทางวิชาการ จากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบแคดเมียม 3.81 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ซึ่งเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และอาหารผิดมาตรฐานตามพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ. 2522 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และ อย. อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด



    ข้อแนะนำ

    ขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังอย่าซื้อ “ผลิตภัณฑ์โนริ (สาหร่ายทะเลย่าง)” ที่ฉลากระบุรายละเอียดดังกล่าวข้างต้นมารับประทาน หากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถาม หรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

  • อย. เตือน เลือกน้ำดื่ม น้ำแข็ง อย่างปลอดภัย ช่วงหน้าร้อน
    อย. ห่วงใยสุขภาพประชาชนในช่วงหน้าร้อน ขอให้ระมัดระวังการบริโภคอาหาร น้าดื่ม และโดยเฉพาะน้ำแข็งควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท สะอาด มีฉลากแสดงรายละเอียดครบถ้วน และมีวิธีการขนส่งเก็บรักษาที่เหมาะสม หากมีการบริโภคน้ำแข็งที่ผลิตและเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ เช่น เชื้ออีโคไล แซลโมเนลลา วิบริโอ คอเลอเร่ และสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส ที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษได้

    นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อน ประชาชนมีการบริโภคน้ำดื่ม และน้ำแข็งเป็นจำนวนมาก โอกาสที่จะเกิดการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์มีมากขึ้น ผู้บริโภคควรเลือกซื้อน้ำดื่ม หรือน้ำแข็ง ที่บรรจุในภาชนะบรรจุที่สะอาดและปิดสนิท มีการแสดงฉลากภาษาไทย ระบุรายละเอียดของชื่ออาหาร เลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิเป็นกรัมหรือกิโลกรัม วัน เดือน และปีที่ผลิต หรือ ควรบริโภคก่อน เป็นต้น โดยเฉพาะฉลากของผลิตภัณฑ์น้ำแข็งต้องมีข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน สำหรับการเลือกซื้อน้ำแข็งบดหรือน้ำแข็งหลอดที่ตักแบ่งหรือกดจากตู้จำหน่าย หรือเสิร์ฟตามร้านอาหาร ที่ไม่มีฉลากนั้น ผู้บริโภคควรหมั่นสังเกตลักษณะของน้ำแข็งที่จะบริโภคต้องใสสะอาด ไม่มีคราบ สี หรือกลิ่นที่ผิดปกติ ไม่มีฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอมในก้อนน้ำแข็ง โดยเลือกซื้อจากแหล่งผลิต และแหล่งจำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะ

    รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า หาก อย. ตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะดำเนินการตามกฎหมาย โดยจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำ

    ทั้งปรับ หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

  • การอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ VS การอนุญาตโฆษณา
    การอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ สมุนไพร วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข และวัตถุเสพติด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภค อย. จึงมุ่งเน้นในการพิจารณาคุณภาพมาตรฐาน และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพในแต่ละกลุ่ม แล้วนำมาเป็นข้อกำหนดหลักเกณฑ์การผลิต/นำเข้า ของแต่ละผลิตภัณฑ์สุขภาพให้เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีความเสี่ยงสูง กำหนดให้ผู้ผลิต/นำเข้าจะต้องมาขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียน ส่วนที่ความเสี่ยงต่ำให้จดแจ้งผลิตภัณฑ์สุขภาพต่อเจ้าหน้าที่ก่อนผลิต/นำเข้า และจำหน่ายออกสู่ท้องตลาด

    ดังนั้น เครื่องหมาย อย. หรือเลขที่แจ้ง หรือเลขทะเบียนของผลิตภัณฑ์ จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่ให้ผู้บริโภค ทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการปฏิบัติตามกฎหมายในเบื้องต้นแล้ว เช่น มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงได้รับอนุญาตโฆษณาแล้ว ซึ่งการมีเครื่องหมาย อย. อยู่บนฉลากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้ในระดับหนึ่ง โดยในกรณีที่ไม่พบเครื่องหมาย อย. หรือเลขที่รับแจ้ง ในผลิตภัณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้ทันทีว่าไม่ควรซื้อ เพราะเสี่ยงต่อการได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น

    การอนุญาตโฆษณา นอกจากการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพแล้ว อย. มีหน้าที่กำกับดูแลการโฆษณา การกล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ ประสิทธิผล ของผลิตภัณฑ์สุขภาพการตรวจสอบการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และอินเทอร์เน็ต เพื่อลดปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่อาจเกิดจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ สื่อ และพิธีกรผู้ดำเนินรายการ โดยมีหลักเกณฑ์ของการอนุญาตโฆษณา ดังนี้

    1. ผลิตภัณฑ์ประเภทยา อาหาร เครื่องมือแพทย์ ต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภายในพื้นที่รับผิดชอบ ก่อนการโฆษณา

    - ยา โฆษณายาแผนโบราณ/ยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ต้องแสดงเลขที่อนุญาตโฆษณา ฆท. xxx/xxxx

    - อาหาร โฆษณาคุณประโยชน์/คุณภาพ สรรพคุณอาหาร ต้องแสดงเลขที่อนุญาตโฆษณา ฆอ. xxx/xxxx

    - เครื่องมือแพทย์ โฆษณาเพื่อประโยชน์ทางการค้า & ส่งเสริมการขาย แม้จะไม่ได้โฆษณาขายเครื่องมือแพทย์โดยตรง ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก อย. ก่อน ต้องแสดงเลขที่อนุญาตโฆษณา ฆพ. xxx/xxxx

    2. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ต้องขออนุญาตโฆษณาแต่จะต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งกำหนดไม่ให้โฆษณาโอ้อวด หลอกลวง เป็นเท็จ หรือทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ

    3. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาท ยาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย และยาควบคุมพิเศษ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ห้ามโฆษณาเพื่อการค้าต่อประชาชนทั่วไป

    ดังนั้นผลิตภัณฑ์สุขภาพแต่ละประเภทที่มีเครื่องหมาย อย. หรือเลขที่รับแจ้ง ไม่ได้หมายความว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านการรับรองให้โฆษณาอย่างถูกต้องตามกฎหมายเสมอไปหรือจะโฆษณาแบบไหนก็ได้ ผู้บริโภคต้องหมั่นสังเกตและรู้ทันโฆษณา โดยตรวจสอบว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่พบตามสื่อสาธารณะนั้นเป็นข้อมูลที่ได้รับอนุญาตด้านเนื้อหาและวิธีการโฆษณาอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยสามารถสืบค้นได้จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ www.fda.moph.go.th เลือกหัวข้อ “สืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณา” และคู่มือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพภายใต้การกำกับดูแลของ อย. ทั้งนี้อาจพบโฆษณาด้วยข้อความ ภาพ หรือเสียง ที่สื่อให้เข้าใจอีกอย่างหนึ่งโดยไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาต แต่อ้างว่าได้รับการอนุญาตให้โฆษณาแล้วก็เป็นได้

  • อย. เตือน อย่าใช้น้ำยาซักผ้าขาวร่วมกับน้ำยาล้างห้องน้ำ อันตรายถึงชีวิต
    อย. เตือน อย่าใช้น้ำยาซักผ้าขาวร่วมกับน้ำยาล้างห้องน้ำ อันตรายถึงชีวิต
    กรณีมีคลิปออกมาแชร์ประสบการณ์ล้างห้องน้ำโดยใช้น้ำยาซักผ้าขาวและเทน้ำยาล้างห้องน้ำตามลงไป ปรากฏว่าเกิดกลิ่นที่รุนแรงมาก ทำให้แสบตา แสบจมูก แสบคอ ต่อมามีอาการหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลนั้น เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ห่วงใยสุขภาพประชาชน ขอย้ำว่า การนำน้ำยาซักผ้าขาวผสมหรือใช้ร่วมกับน้ำยาล้างห้องน้ำ ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

    น้ำยาซักผ้าขาวและน้ำยาล้างห้องน้ำ จัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข สารเคมีในน้ำยาซักผ้าขาว เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติฟอกขาวและฆ่าเชื้อโรค เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรต์ ส่วนสารเคมีที่อยู่ในน้ำยาล้างห้องน้ำ ประกอบด้วยสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง เช่น กรดเกลือหรือกรดไฮโดรคลอริก เมื่อนำผลิตภัณฑ์ที่มีกรดไฮโดรคลอริกและโซเดียมไฮโปคลอไรต์มาผสมกันหรือใช้ร่วมกัน จะเกิดปฏิกิริยาเคมีเปลี่ยนเป็น “ก๊าซคลอรีน” มีกลิ่นฉุน มีความเป็นพิษสูง หากสูดดมจะระคายเคืองทางเดินหายใจ อาจเกิดอาการไอ คลื่นไส้อาเจียน แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย บางรายที่อาการรุนแรง อาจมีภาวะน้ำท่วมปอด ขาดออกซิเจน ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและมีภาวะเลือดเป็นกรด อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

    ที่ผ่านมาพบว่าเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้กับผู้ใช้หลายราย เนื่องจากเชื่อคำแนะนำทางสื่อออนไลน์ ที่เป็นข่าวปลอม (แนะนำให้ใช้น้ำยาซักผ้าขาวร่วมกับน้ำยาล้างห้องน้ำ) อย. จึงขอเตือนผู้บริโภค อย่าเชื่อ หยุดแชร์ข่าวปลอมดังกล่าว ห้ามนำน้ำยาซักผ้าขาวและน้ำยาล้างห้องน้ำมาผสมกัน หรือใช้ผลิตภัณฑ์ทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน โดยก่อนใช้ต้องอ่านฉลากและปฏิบัติตามวิธีใช้ คำแนะนำ คำเตือนอย่างเคร่งครัด ขณะใช้น้ำยาล้างห้องน้ำควรสวมถุงมือยางหรือรองเท้ายาง และภายหลังการใช้ต้องล้างถุงมือยาง รองเท้ายางและมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้ง ควรเลือกใช้น้ำยาล้างห้องน้ำที่มีเลขทะเบียนวัตถุอันตราย โดยสังเกตเครื่องหมาย อย. วอส. โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ได้ที่ เว็บไซต์ fda.moph.go.th หัวข้อ “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์” หากพบผลิตภัณฑ์ที่น่าสงสัย หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดต่อไป รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในที่สุด

  • อย. ตรวจพบปริมาณแคดเมียมเกินมาตรฐาน ในผลิตภัณฑ์ปลาหมึกกล้วยต้มหั่นแช่แข็ง รุ่นการผลิตที่ 076/2022
    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร ณ ด่านอาหารและยาท่าเรือกรุงเทพ นำเข้าโดยบริษัท วายเอเจ เทรด ทราน จำกัด ส่งตรวจวิเคราะห์โดยมีรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ดังนี้ “ผลิตภัณฑ์ปลาหมึกกล้วยต้มหั่นแช่แข็ง (FROZEN COOKED SQUID SLICES (GRADE B))”ผลิตโดย FUJIAN HUAXIAN AQUATIC SEAFOOD CO., LTD สาธารณรัฐประชาชนจีน รุ่นการผลิตที่ 076/2022 วันผลิต 20/10/2022 และวันหมดอายุ 20/10/2024 น้ำหนักสุทธิ 10 กิโลกรัมต่อกล่อง ผลการตรวจวิเคราะห์ทางวิชาการ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบแคดเมียม 6.30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ซึ่งเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และอาหารผิดมาตรฐานตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และ อย. อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด

  • ยาที่ต้องระวังระหว่างขับขี่ยานพาหนะ
    “กินยาแล้วง่วง” อาการที่หลายคนเคยเป็น จนบางครั้งกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน รวมไปถึงเสี่ยงต่อการขับขี่ยานพาหนะด้วย นอกจากยาที่ทำให้ง่วงซึม ยาบางกลุ่มส่งผลให้อ่อนเพลีย วูบ หรือรบกวนการมองเห็นได้ วันนี้เราจึงพามารู้จักยาที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างขับรถ พร้อมวิธีสังเกตคำเตือนบนฉลากยาง่าย ๆ

    ยาที่มีผลต่อการขับขี่ เช่น
    1. ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine) ที่รู้จักกันในชื่อ ยาแก้แพ้หรือยาแก้โรคภูมิแพ้ รวมถึงกลุ่มยาแก้เมารถ เช่น คลอเฟนิรามีน พบทั้งชนิดที่เป็นยาเดี่ยวและชนิดผสม ส่งผลให้เกิดการกดประสาท ทำให้ง่วงนอน มึนงง มองไม่ชัด นอกจากไม่ควรใช้ยาก่อนที่จะขับขี่ยานพาหนะแล้วไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ร่วมกับการดื่มสุรา หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาทด้วย

    2. ยาคลายเครียด/ยานอนหลับ/ยารักษาโรคจิตเวช และยารักษาโรคทางระบบประสาทบางชนิด เช่น ไดอะซีแพม อัลพาโซแลม ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น เกิดอาการซึมมาก หลับนานผิดปกติ กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน ส่งผลให้การตัดสินใจล่าช้า มีผลต่อการทำงานของร่างกายในการรับรู้ของอวัยะต่างๆ และสั่งการทำงานของแขนขา ซึ่งหากรับประทานยาในกลุ่มนี้แล้วมาขับขี่ยานพาหนะอาจจะมีอาการง่วงซึมค้างจากยา หรือประสิทธิภาพในการตัดสินใจในการขับขี่ลดลง อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้

    3. ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมอนุพันธ์ของฝิ่น เช่น ทรามาดอล มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้พบผลข้างเคียงตั้งแต่อาการใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ มึนงง ง่วงซึม จนถึงรุนแรง เช่น กดศูนย์การหายใจของร่างกาย กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ประสาทหลอน จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเองขณะที่ใช้ยานี้

    4. ยาแก้ไอหลายชนิดที่เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น เช่น ยาแก้ไอน้ำดำที่มีส่วนผสมของโคเดอีน จะส่งผลให้คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม ลดประสิทธิภาพในการขับขี่ การใช้ยาในขนาดสูงทำให้การหายใจหยุด ช็อก และหัวใจหยุดเต้น

    5. ยาคลายกล้ามเนื้อ/แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง ลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดตึง ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย จนบางครั้งอาจทำให้แขนขาอ่อนแรง และใช้งานในการควบคุมได้ไม่ดีพอ

    6. ยาประเภทอื่น ๆ เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง/ยารักษาโรคหัวใจ และยาหยอดตา ที่มีผลรบกวนการขับขี่ยานพาหนะ




    ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอาการง่วงนอนจากยาขณะขับรถ
    1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนในช่วงก่อนและขณะขับรถ โดยสังเกตคำเตือนบนฉลากก่อนใช้ยา เช่น “ยานี้ทำให้ง่วงซึม จึงไม่ควรขับขี่ยานยนต์หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง” หรือ “ควรทดสอบก่อนว่า รับประทานยานี้แล้วไม่ง่วง” เป็นต้น
    2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนร่วมกับแอลกอฮอล์ โดยสังเกตคำเตือนบนฉลากก่อนใช้ยา เช่น “ไม่ควรรับประทานร่วมกับสุราหรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ” หรือ “ยานี้มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่…% ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง”
    3. ยาบางชนิดรบกวนการมองเห็น เช่น ยาหยอดตา น้ำตาเทียม แม้จะทำให้ตาพร่ามัวเพียงชั่วคราวแต่ไม่ควรใช้ระหว่างขับรถ
    4. การใช้ยาที่ทำให้วูบ ใจสั่น หน้ามืด อ่อนเพลีย ซึ่งเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยาลดความดันโลหิต ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงผลข้างเคียงให้ชัดเจน ไม่ควรหยุดยาหรือปรับการใช้ยาเองเพื่อขับรถ แต่ควรหลีกเลี่ยงการขับรถด้วยตัวเอง
    ยาที่ส่งผลต่อการขับขี่ยานพาหนะ พบได้ทั้งชนิดที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ซึ่งได้จากโรงพยาบาล และเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาและร้านค้าทั่วไป ดังนั้นก่อนใช้ควรอ่านคำแนะนำบนฉลาก และปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยควรเลือกซื้อยาจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง มีเภสัชกรประจำร้านที่ได้มาตรฐาน สามารถให้คำแนะนำการใช้ยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมจะดีที่สุด

  • อย. ร่วม ตำรวจสอบสวนกลาง โดย ปคบ. บุกทลายโกดังกระจายอาหารเสริมปลอมยาปลอม และเครื่องสำอางปลอม มูลค่าความเสียหายกว่า 10.5 ล้านบาท
    วันที่ 23 มีนาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีทลายโกดังเก็บผลิตภัณฑ์อาหาร, ยาปลอม และเครื่องสำอางปลอม โดยลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลาง 19 รายการ รวม 6,320 กล่อง มูลค่าความเสียหายกว่า 10,500,000 บาท พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากปัจจุบันค่านิยมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นที่ได้รับความสนใจของผู้บริโภคยุคใหม่ จึงทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอมในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีมาตรการในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้รับการร้องเรียน และข้อมูลจาก บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มาร์ จำกัด (มหาชน) ว่าพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ TS6 Probiotic และ Probac7 ปลอม แพร่ระบาดในแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นจำนวนมาก
    เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนจนทราบว่า มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ TS6 Probiotic และ Probac7 ปลอมบนแพลตฟอร์มช้อปปี้มากกว่า 15 ร้าน และพบว่า กลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดมีการลักลอบนำสินค้าปลอมเข้ามาจากประเทศจีน จากนั้นนำมาเก็บไว้ที่โกดังเก็บสินค้าในพื้นที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร อีกทั้งพบว่าร้านค้าดังกล่าวมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอางชื่อดังที่ต้องสงสัยว่าปลอมหลายอีกหลายยี่ห้อ ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละรายการมีราคาค่อนข้างสูง ผู้บริโภคที่ซื้อย่อมคาดหวังในคุณภาพ การขายผลิตภัณฑ์ปลอมในราคาสูงจึงเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค เมื่อรับประทานแล้วอาจทำให้ไม่ได้ผลตามต้องการ และอาจทำให้ได้รับอันตรายต่อสุขภาพต่อผู้บริโภคโดยตรง
    ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญากรุงเทพใต้ เข้าทำการตรวจค้นอาคารแห่งหนึ่ง ย่านถนนบรรทัดทอง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้น พบ นายเชง (สงวนนามสกุล) สัญชาติ จีน แสดงตัวเป็นเจ้าของสถานที่และกิจการดังกล่าว ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ตามที่ปรากฏในเรื่องร้องเรียน และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหมด 19 รายการ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 10,500,000 บาท โดยของกลางส่วนใหญ่ที่ยึดในครั้งนี้ และมีบริษัทผู้นำเข้ายืนยันว่าไม่ใช่สินค้าของบริษัทตน ได้แก่
    1.บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มาร์ จำกัด (มหาชน)
    2.บริษัทแอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด
    3.บริษัทเฮอร์บาไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

    โดยในการตรวจค้นครั้งนี้พบผลิตภัณฑ์ “Pre-conception&Pregnancy” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มสตรีมีครรภ์ โดยเป็นวิตามินและแร่ธาตุที่ใช้ในการบำรุงระหว่างตั้งครรภ์ จนถึงคลอดบุตร หากทำปลอมและมีสารเคมีอันตรายผสมเจือปน อาจเป็นอันตรายโดยตรงต่อผู้บริโภค เบื้องต้นพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาในความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “จำหน่ายอาหารปลอม” โดยผู้ต้องหาให้การ ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่รับว่า สินค้าของกลางในคดีทั้งหมดถูกส่งมาจากประเทศจีน แล้วนำมาเก็บไว้ ในอาคารที่เกิดเหตุจริง เพื่อนำส่งลูกค้าคนไทยที่ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มในประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าปลอมอื่นๆ อยู่ระหว่างติดต่อให้ บริษัท เจ้าของผลิตภัณฑ์ตรวจสอบและยืนยันเพิ่มเติม ในส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์พนักงานสอบสวนจะส่งผลิตภัณฑ์ตรวจพิสูจน์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากพบสารต้องห้ามจะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.อาหาร ฐาน “จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
    1. พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “จำหน่ายอาหารปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาท ถึงหนึ่งแสนบาท
    2. กรณีพบว่าผลิตภัณฑ์ยาเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510
    ฐาน “ขายยาปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่สองพันถึงหนึ่งหมื่นบาท
    3. กรณีพบว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
    ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” ระวางโทษจำคุกหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผล จนสามารถตรวจยึด อาหาร ยา เครื่องสำอาง ผิดกฎหมายได้จำนวนมากในส่วนของพี่น้องประชาชนขอย้ำเตือนว่า อาหาร ยา เครื่องสำอางจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจำหน่าย โดยสามารถดูได้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์ หรือที่บรรจุภัณฑ์ ควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน กรณีซื้อออนไลน์ให้ซื้อจาก ร้านค้าออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เรียบร้อยแล้ว สำหรับยาไม่สามารถซื้อทางออนไลน์ได้ ต้องซื้อจากร้านยา หรือได้รับการตรวจวินิจฉัยและจ่ายจากแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชนเท่านั้น ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถ แจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
    พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านสื่ออนไลน์ เพียงเพราะเห็นแก่ราคาสินค้าที่ถูกกว่าท้องตลาด ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น อาหารเสริม และยา ที่ถูกเกินกว่าปกติ หรือโฆษณาโปรโมชั่นการตลาดที่ราคาลดลงจนไม่น่าเป็นไปได้ เช่น ลด 50 -70 % , ซื้อ 1 แถม 2, สินค้า Pre Order, กล่าวอ้างซื้อตัดล็อต หรือเป็นของแท้นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่เสียภาษีจึงราคาถูก เป็นต้น ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการโฆษณาและได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ ใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ และขอเน้นย้ำกับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางแพลตฟอร์ม อี-มาร์เก็ตเพลส และทางสื่อออนไลน์ทั้งหลายว่าอย่านำสินค้าที่ผิดกฎหมายมาจำหน่ายหรือหลอกลวงผู้บริโภคโดยเด็ดขาด หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

  • อย. ยัน น้ำตาเทียมที่พบเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีนำเข้าในไทย
    กรณีที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) พบเชื้อแบคทีเรียในน้ำตาเทียม 2 ยี่ห้อ ได้แก่ EzriCare และ Delsam Pharma ซึ่งผลิตในอินเดีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย สูญเสียการมองเห็น 8 ราย และต้องผ่าลูกตาออก 4 ราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบแล้ว ไม่พบการขึ้นทะเบียนของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และไม่พบข้อมูลการจำหน่ายบนอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย
    ทั้งนี้ อย. มีมาตรการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศอย่างเข้มงวด และติดตามรายงานสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ยาในต่างประเทศอย่างใกล้ชิดสำหรับการใช้น้ำตาเทียมให้ปลอดภัย ควรใช้ตามคำแนะนำของแต่ละรูปแบบ เช่น น้ำตาเทียมแบบรายวัน ต้องใช้ไม่เกิน 12-24 ชั่วโมง หลังจากเปิด หรือแบบรายเดือน ใช้ได้ไม่เกิน 1 เดือน หลังจากเปิดแล้ว เป็นต้น และไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้ โดยวิธีการหยอดน้ำตาเทียมนั้นจะต้องระมัดระวังไม่ให้ปลายหลอดสัมผัสบริเวณดวงตา หรือขนตา เพื่อป้องกันการติดเชื้อจนดวงตาอักเสบ และหากมีน้ำตาเทียมและยาหยอดตาที่ต้องใช้เพิ่มเติม ควรใช้ห่างกันประมาณ 10 นาที ที่สำคัญ หากมีอาการผิดปกติ เช่น เกิดการระคายเคือง มีภาวะตาแห้งมากขึ้น ควรพบจักษุแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและรักษาเป็นลำดับถัดไป

  • อย. เตือนระวังคุกกี้กัญชาลักลอบนำเข้า ไร้ อย.
    อย. เตือนผู้ปกครองระวังเด็กๆ รับประทานคุกกี้ผสมกัญชา พบลักลอบนำเข้า ไม่มี อย. มีปริมาณ THC สูงถึง 600 มิลลิกรัม

    นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า มีเด็กรับประทานคุกกี้ช็อกโกแลตที่ลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย แล้วมีอาการเจ็บป่วยหนักที่โรงพยาบาล แถวภาคใต้ นั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบภาพผลิตภัณฑ์ตามข่าวดังกล่าว พบข้อมูลระบุ “Twix Chocolate sand THC 600 MG PER BAG PER 2 COOKIES” ซึ่งไม่พบข้อมูลการได้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์ และ อย. ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสืบหาข้อเท็จจริงไม่พบการนำเข้า ณ ด่านอาหารและยาแต่อย่างใดนอกจากนี้จากการตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางร้านค้าตลาดออนไลน์ไม่พบว่ามีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าเป็นการลักลอบนำเข้า

    ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายจัดเป็นอาหารที่ต้องได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหารซึ่งต้องผ่านการประเมินความปลอดภัย โดยมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค (THC ต้องไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อขวด/กล่อง/ซอง) และเข้มงวดในการพิจารณาสูตรส่วนประกอบ รวมทั้งผลตรวจพิสูจน์ปริมาณ THC กำหนดให้ฉลากผลิตภัณฑ์แสดงข้อแนะนำการบริโภคเพื่อความปลอดภัย เช่น" ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 หน่วยบรรจุ (ขวด/กล่อง/ซอง)" และแสดงข้อความคำเตือนที่เห็นได้ชัดเจนบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ได้แก่ “เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน” และ “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล” ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตต้องมีความปลอดภัย และมีผลวิเคราะห์ยืนยันปริมาณ THC ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ อย. ได้ดำเนินแผนเก็บตัวอย่างเฝ้าระวังคุณภาพและการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่วางจำหน่ายในท้องตลาด และดำเนินคดีกับผู้ผลิตอาหารผิดมาตรฐาน

    รองเลขาธิการ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง และอ่านฉลาก ว่ามีกัญชาเป็นส่วนประกอบหรือไม่ ชื่ออาหารต้องมีคำว่า “กัญชา” หรือ “กัญชง” หรือชื่อส่วนของกัญชาหรือกัญชงที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหาร หรือกำกับชื่ออาหาร ฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ต้องแสดงเลขสารบบอาหาร และเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการบริโภคและข้อความคำเตือนที่แสดงบนฉลาก

  • อย. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมด่านอาหารและยาท่าอากาศยานหาดใหญ่ และด่านอาหารและยาสะเดา จ. สงขลา มุ่งคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค
    เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำและให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาท่าอากาศยานหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นด่านตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ติดตัวมากับผู้โดยสารเดินทางระหว่างประเทศ ทั้งการเฝ้าระวังให้เป็นไปตามกฎหมายและป้องกันการลักลอบนำเข้า เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด 19 จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมด่านอาหารและยาสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นด่านอาหารและยาที่มีหน้าที่กำกับดูแลการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย และป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีใบขนสินค้าขาเข้า จำนวน 5,347 ใบขน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ากว่า 7,291 ล้านบาทต่อปี โดยผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ เครื่องสำอาง เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ตกแต่งใบหน้า และน้ำหอม เป็นต้น รองลงมาคือ อาหาร เช่น บิสกิต แครกเกอร์ เวเฟอร์ หอยแครง หอยลาย เป็นต้น ทั้งนี้ ด่านอาหารและยาสะเดาตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านระบบ National Single Window: NSW โดยเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้ากับกรมศุลกากร นอกจากนี้ ยังมีการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ ณ ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา หากผลวิเคราะห์ไม่ได้มาตรฐานจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และกรณีอาหารที่มีผลตรวจวิเคราะห์ไม่ได้มาตรฐานจะถูกนำเข้าระบบกักกันของด่านอาหารและยา เพื่อตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าครั้งต่อไปอย่างเข้มงวด

    การตรวจเยี่ยมครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมรอบด้านมากยิ่งขึ้น ร่วมรับฟังปัญหาอุปสรรค แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งนี้ อย. มุ่งมั่นในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเฝ้าระวังการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพให้เป็นไปตามกฎหมาย

  • เตือน!! เครื่องสำอาง “ผงพอกผิวขาว” แสดงเลขที่จดแจ้งปลอม
    อย. เตือนประชาชนระมัดระวังการซื้อเครื่องสำอางผงพอกผิวขาว พบปลอมเลขจดแจ้งแนะตรวจสอบเลขอนุญาตผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อ
    เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้บริโภคใช้ผงพอกผิวขาว พอกแขน และหน้า เมื่อล้างออก ผิวไม่ได้ขาวขึ้นตามคำโฆษณา แต่กลับคล้ำลงเห็นได้อย่างชัดเจน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สอบถามข้อมูลจากผู้เสียหายทราบว่าสั่งซื้อผงดังกล่าว จากเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ผงสาหร่ายขัดผิวขาว Organic แท้100%” ลักษณะเป็นผงสีเขียว บรรจุในซองพลาสติก ขนาด 100 กรัม ด้านหน้าเป็นภาษาประเทศเพื่อนบ้าน ฉลากแสดงเลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-2-6600188171 เมื่อตรวจจากฐานข้อมูลการอนุญาตพบว่าเป็นเลขปลอม ขณะนี้ผู้จำหน่ายปิดเฟซบุ๊กดังกล่าวแล้ว
    อย. จะได้ตรวจสอบการขายผลิตภัณฑ์ข้างต้นทางออนไลน์ช่องทางอื่น และประสานตำรวจ บก.ปคบ. สืบหาแหล่งผลิตเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป จึงขอเตือนร้านค้าอย่าซื้อมาขาย ประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้
    ทั้งนี้ ผู้ขายเครื่องสำอางที่ไม่จดแจ้งมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ผู้ขายเครื่องสำอางปลอมเลขที่ใบรับจดแจ้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    อย. ขอแนะนำให้ผู้บริโภค ตรวจสอบเลขอนุญาตผลิตภัณฑ์ก่อนเลือกซื้อมาใช้ โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ www.fda.moph.go.th หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน มีฉลากภาษาไทยครบถ้วน ระบุเลขที่ใบรับจดแจ้งที่ตรวจสอบแล้วพบข้อมูลตรงตามข้อมูลที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ และหากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

  • อย. ห่วงใย ส้นเท้าแตก ทำอย่างไรดี
    ส้นเท้าแตก ไม่ได้เกิดจากอากาศที่แห้งหรือหนาวเย็นเพียงอย่างเดียว แต่อาจมีสาเหตุมาจากสภาพผิวที่มีความยืดหยุ่นน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น ภาวะผิวขาดน้ำจากการอาบน้ำหรือแช่น้ำที่ร้อนจนเกินไป หรือจากการใช้สบู่ที่ทำให้ผิวแห้ง และขาดการบำรุงผิวด้วยครีมที่ช่วยทำให้เท้ามีความชุ่มชื้น นอกจากนี้การใส่รองเท้าที่ไม่ถนอมเท้าหรือเปิดผิวเท้ารวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ก็มีโอกาสเสี่ยงเกิดส้นเท้าแตกได้เช่นกัน

    ส้นเท้าแตก หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้รอยแตกลึกขึ้นจนถึงชั้นผิวหนังแท้ มีเลือดออก เกิดความเจ็บปวดและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ซึ่งในเบื้องต้นหากสังเกตว่าเริ่มมีรอยแตกตื้น ๆ ที่เท้า เราสามารถดูแลตัวเองได้โดยการใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นและลดการหนาตัวผิดปกติของผิวหนังชั้นนอก ดังนี้

    1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารให้ความนุ่มลื่นแก่ผิว (Emollients) เช่น เซราไมด์ น้ำมันละหุ่ง ลาโนลิน เป็นสารที่ถือว่ามีความปลอดภัยและมีผลข้างเคียงต่ำ ช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น ปกคลุมผิวชั้นนอกป้องกันการสูญเสียน้ำจากผิว อาจอยู่ในรูปแบบของขี้ผึ้ง ครีม โลชั่น เจล และสเปรย์ สาร emollients สามารถใช้เป็นทั้งสารทดแทนสบู่เพื่อทำความสะอาดผิว และใช้ทาผิวทิ้งไว้เพื่อเป็นมอยส์เจอไรเซอร์ได้ ยิ่งหากใส่ถุงเท้าร่วมด้วยจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวบริเวณเท้าได้ดียิ่งขึ้น



    2. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารดูดซับความชุ่มชื้นให้ผิว (Humectant) เช่น ยูเรีย กรดแลคติก และกลีเซอรีนจะช่วยเสริมการรักษาความชุ่มชื้นผิว สำหรับยูเรียที่มีความเข้มข้นตั้งแต่ 10% ขึ้นไปจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยาใช้ภายนอก การใช้ยาควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

    แม้เราจะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อผลด้านสุขภาพผิวเท่านั้น แต่ก็ควรจะคํานึงถึงความปลอดภัยในการใช้ ด้วยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อน สังเกตส่วนประกอบบนฉลากบรรจุภัณฑ์ก่อนเลือกซื้อ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ emollients ผสมกับยูเรียความเข้มข้นสูง อาจทำให้เกิดการแสบผิวหรือไม่สบายผิว ซึ่งสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณความเข้มข้นของยูเรียลดลง หากไม่แน่ใจควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความรุนแรงของโรค

    เราสามารถป้องกันส้นเท้าแตกได้แต่เนิ่น ๆ ดังนี้

    1. เลือกใช้สบู่ที่ถนอมผิว ไม่ใช้สบู่ที่มีสารเคมีเข้มข้นหรือที่มีส่วนผสมทำให้ผิวแห้ง ระคายเคืองผิว

    2. ผู้ที่มีภาวะผิวแห้งง่ายควรเลือกครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ใช้ทาหลังอาบน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว และป้องกันผิวแห้งแตก

    3. ควบคุมน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักตัวมาก และในผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อป้องกันผิวบริเวณเท้าไม่ให้รองรับน้ำหนักมากเกินไป

    4. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำหรือแช่น้ำที่อุณหภูมิร้อนจัด

    5. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะผิวขาดน้ำ

    หากมีอาการบวมแดงและเจ็บปวดบริเวณส้นเท้าที่แตกมากมีหนองหรืออาการไม่บรรเทาโดยการรักษาด้วยตนเองควรไปพบแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาการติดเชื้อและรักษาได้อย่างทันท่วงที

  • ระวัง!! 2 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.
    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่แสดงฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหาร ไม่มีชื่อและที่ตั้งผู้นำเข้า และการแสดงสารอาหารที่ได้รับต่อวันบนฉลาก เกินกว่าที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้ส่วนประกอบที่สำคัญของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดวิตามินและแร่ธาตุ จำนวน 2 รายการ ได้แก่

    1.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Celebrate Nutritional Supplements Calcium Plus Dietary Supplement การแสดงสารอาหารที่ได้รับต่อวันบนฉลาก พบว่ามีปริมาณวิตามินดี และแคลเซียมในปริมาณ 90 ไมโครกรัมต่อวัน และ 3,600 มิลลิกรัมต่อวัน ตามลำดับ ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดในประกาศฯ คือ ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อวัน และไม่เกิน 800 มิลลิกรัมต่อวัน ตามลำดับ

    2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Celebrate Nutritional Supplements Iron 30 Plus Vitamin C การแสดงสารอาหารที่ได้รับต่อวันบนฉลาก พบว่ามีปริมาณเหล็ก 30 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดในประกาศฯ คือ ไม่เกิน 15 มิลลิกรัมต่อวัน

    ทั้งนี้ อย.ได้แจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดตรวจสอบเฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วจึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อมารับประทาน

    ข้อแนะนำ

    ขอแนะผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อมูลการขออนุญาตผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่ www.fda.moph.go.th หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai และควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย แสดงชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของสถานที่ผลิต หรือชื่อและที่ตั้งผู้นำเข้า และประเทศผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ ส่วนประกอบที่สำคัญ วันเดือนและปีที่ผลิต และวันเดือนและปีที่ควรบริโภคก่อน หรือหมดอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ หากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะไม่ปลอดภัย ขอให้แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

  • อย. สนับสนุน สปป. ลาว จัดอบรมสร้างความเข้มแข็งกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์
    อย. ไทย และ สปป. ลาว ร่วมพัฒนางานด้านสาธารณสุข โดย อย. ได้จัดอบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีคณะผู้แทนและเจ้าหน้าที่จากกรมอาหารและยา แขนงตรวจสอบอาหารและยา ศูนย์วิจัยอาหารและยา หน่วยอาหารและยาจังหวัด และโรงงานผลิตยาเลข 3 สปป. ลาว เข้าร่วมอบรม เพื่อใช้ในการดำเนินงานสำหรับการกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ของ สปป. ลาว ต่อไป

    นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมอาหารและยา (Food and Drug Department : FDD) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้มีความร่วมมือการพัฒนาไทย - ลาว สาขาสาธารณสุข ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพการกำกับดูแลอาหารและยา (Strengthening Food and Drug Regulatory Capacity) โดยได้มีการจัดอบรมให้กับบุคลากรของสปป.ลาว ในหลักสูตร Medical Device Regulation ซึ่งเป็นการอบรมเกี่ยวกับการกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย และการติดตามความปลอดภัยหลังออกสู่ตลาด ที่สอดคล้องกับประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ สปป.ลาว อยู่ระหว่างการออกข้อกำหนดเพื่อกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในภาพรวม ซึ่งเทียบเท่ากับการออกพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย ดังนั้น การอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้กับผู้แทน สปป. ลาว มากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานสำหรับการกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ของสปป.ลาวต่อไป

  • อย. ย้ำ อย่านำยาทาเล็บไปใช้ทาฟัน มีสารเคมีหลายชนิด ห้ามเข้าปากหรือกลืน
    กรณีข่าวในสื่อออนไลน์มีผู้นำยาทาเล็บมาทาฟันให้ฟันขาว อย. เตือน ยาทาเล็บเป็นเครื่องสำอางตกแต่งทำสีเล็บเพื่อความสวยงาม สำหรับใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามนำเข้าปาก เพราะมีสารเคมีหลายชนิดที่เป็นอันตรายหากดูดซึมในเยื่อบุช่องปากหรือกลืนกิน

    เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจงว่า ยาทาเล็บมีส่วนประกอบของสารที่ทำให้เกิดฟิล์ม สารให้ความยืดหยุ่น ตัวทำละลาย สี และสารต้านการเกิดฟอง เป็นสารเคมีสำหรับใช้ภายนอกร่างกายการใช้ทาเล็บแล้วปล่อยให้สีแห้งสนิทก่อนหยิบจับอาหารหรือใช้ชีวิตประจำวันสามารถกระทำได้ไม่เกิดอันตราย แต่หากใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำมาทาฟัน สารเคมีจะถูกดูดซึมเข้าทางเยื่อบุช่องปากที่สามารถดูดซึมสารเคมีได้ดีกว่าเล็บ จึงทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้หากใช้ผิดวิธี

    ภก. วีระชัย นลวชัย แนะเลือกซื้อยาทาเล็บให้สังเกตฉลากบนบรรจุภัณฑ์ ต้องแสดงเลขที่ใบรับจดแจ้ง ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ คำเตือน ชื่อ ที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ยาทาเล็บที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่ระบุผู้ผลิต อาจมีส่วนผสมของสารอันตราย เช่น ไดบิวทิลทาเลต (Dibutyl Phthalate) หรือสารฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่ปัจจุบันถูกกำหนดเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางแล้ว เนื่องจากเป็นสารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธุ์และสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ (CMR Substances)

  • อย. เตือน!! ผลิตภัณฑ์ CHEMRICH BORAX โฆษณาอ้างสรรพคุณรักษาโรค
    พบผลิตภัณฑ์ “CHEMRICH BORAX” โฆษณาขายทางสื่อออนไลน์ ระบุสรรพคุณ“...cds ดีจริง ๆ พี่อาการดีขึ้นมาก ๆ ภายใน 5 วัน...แฟนพี่งงมาก ๆ ทำไมตื่นนอนตอนเช้าไม่ไอไม่จาม นอนหลับลึกหลับสนิทไม่ตื่นนอนกลางดึก พี่เป็นภูมิแพ้....ความดัน เบาหวาน อย่ารอช้าค่ะมาเอาน้ำอัมฤทธิ์ไปดื่มเลยนะคะ...”

    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่พบการอนุญาตผลิตภัณฑ์และโฆษณากับ อย. จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาลักษณะนี้

  • อย. ยันไม่พบการใช้สารกลุ่ม PFAS ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จำหน่ายในไทย ขอประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย
    จากข่าว EPA นิวซีแลนด์เสนอให้ยกเลิกการใช้สาร PFAS ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อให้สอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) อย. ตรวจสอบเครื่องสำอางที่จดแจ้งในประเทศไทยแล้วไม่พบการใช้สารในกลุ่มดังกล่าวและอนุพันธ์ของสารทั้ง 13 รายการ เป็นส่วนผสม ขอประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย อย. มีการเฝ้าระวัง ติดตามความปลอดภัยในการใช้สารต่าง ๆ ในเครื่องสำอางอย่างสม่ำเสมอ

    เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงข่าวออนไลน์ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) ประเทศนิวซีแลนด์ที่ได้เสนอให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ยกเลิกการใช้สารเพอร์ฟลูออโรอัลคิลและโพลีฟลูออโรอัลคิล (perfluoroalkyl and polyfluoroalkyl substances : PFAS) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อให้สอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) ภายในสิ้นปี 2568 นั้น การดำเนินการเรื่องดังกล่าวในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอยู่ระหว่างการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสาร PFAS และอนุพันธ์ของสารจำนวน 13 รายการอยู่ในประกาศฉบับดังกล่าว โดยร่างประกาศฯ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเครื่องสำอางแล้ว อยู่ในขั้นตอนเสนอรัฐมนตรีลงนามประกาศฯ ต่อไป จากการตรวจสอบฐานข้อมูลเครื่องสำอางที่จดแจ้งเพื่อผลิต นำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทย ไม่พบการใช้สารในกลุ่ม PFAS และอนุพันธ์ของสารทั้ง 13 รายการ เป็นส่วนผสม และ อย. มีแผนเก็บตัวอย่างเพื่อเฝ้าระวังสารห้ามใช้ หากพบการฝ่าฝืน ผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทุกกรณี

  • หากพูดถึงโรคพิษสุนัขบ้าหลายคนคงนึกถึงแต่การติดเชื้อที่เกิดจากสุนัขเพียงเท่านั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนเลยว่า โรคพิษสุนัขบ้านั้นเกิดได้จากการที่เราโดนกัด ข่วน หรือไปโดนน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น แมว กระต่าย ลิง กระรอก หนู วัว ควาย ม้า ดังนั้นหากเราโดนสัตว์เหล่านี้กัด ข่วน หรือน้ำลายของสัตว์สัมผัสบาดแผลจะทำให้เรามีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies Virus) ที่เป็นสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำได้

    แม้โรคพิษสุนัขบ้าจะยังไม่สามารถรักษาได้ แต่เราสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้หากพิจารณาแล้วว่าตนเองมีความเสี่ยง

    เมื่อไหร่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

    1. ฉีดวัคซีนก่อนการสัมผัสสัตว์ (Prophylaxis)

    สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สัตวแพทย์ โดยฉีด 3 ครั้ง คือ วันที่ 0, 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้นอีก 1 ปี สามารถฉีดกระตุ้นอีกครั้งเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายได้

    2. ฉีดวัคซีนหลังการสัมผัสสัตว์ โดยพิจารณาความเสี่ยง ดังนี้

    น้ำลาย/เลือด : หากสัมผัสผิวหนังที่ไม่มีแผล ไม่มีรอยถลอก ไม่ต้องฉีดวัคซีน

    : หากสัมผัสผิวหนังที่มีแผล มีรอยถลอก กระเด็นเข้าตา จมูกหรือปาก ต้องฉีดวัคซีน

    ถูกข่วน : บริเวณผิวหนัง โดยจะมีเลือดออกหรือไม่มีก็ตาม ต้องฉีดวัคซีน

    ถูกงับ : บริเวณผิวหนังแล้วมีรอยช้ำ โดยจะมีเลือดออกหรือไม่มีก็ตาม ต้องฉีดวัคซีน

    ถูกกัด : จนเป็นแผลมีเลือดออก ต้องฉีดวัคซีน

    ในกรณีที่ต้องฉีดวัคซีนหลังสัมผัสสัตว์ จะพิจารณาจำนวนครั้งของการฉีดวัคซีนจากประวัติของการได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

    สำหรับบางคนถูกกัดหรือข่วนจนเป็นแผลและมีเลือดออก หรือถูกกัดจนเป็นแผลบริเวณใบหน้า ศีรษะ คอ มือ และนิ้วมือ หากมีแผลลึกหรือเป็นแผลในลักษณะที่ฉีกขาดมากอาจจะต้องได้รับการฉีดอิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin; IG) ร่วมด้วยเนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง

    ดังนั้นจึงควรระวังตนเองอยู่เสมอและหากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด งับ ข่วน หรือโดนสารคัดหลั่งจากสัตว์นั้น ๆ ควรรีบปฐมพยาบาล โดยล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้ง อย่าบีบเค้นแผลหรือปิดปากแผล แต่ควรใช้โพวีโดนไอโอดีน (Povidone Iodine) เช็ดแผลเพื่อฆ่าเชื้อ แล้วรีบไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว เพื่อรับการฉีดป้องกันบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามอาการ รวมถึงวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าหรืออิมมูโนโกลบุลินตามความเหมาะสม

  • ความรู้ อย. เรื่องของ นม ที่คนมักเข้าใจผิด
    อย่างที่ทราบกันดีว่า นมวัวเป็นแหล่งโปรตีนและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมี

    ข่าวแชร์ผิด ๆ ที่ส่งต่อกันในโลกออนไลน์ว่า การดื่มนมจะทำให้เสี่ยงโรค หรือ เราควรเลิกดื่มนมวัว เพราะมีสิ่งอันตรายอย่างยาฆ่าแมลง อุจจาระและยาปฏิชีวนะเจือปนอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงข่าวแชร์ที่ว่า การดื่มนมเปรี้ยวจะช่วยรักษาอาการท้องเสียได้ ข่าวแชร์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เรามาดูกัน...



    - เราควรเลิกดื่มนมวัว จริงหรือ?



    ไม่จริง อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า มีกระแสในโลกออนไลน์ให้ข้อมูลว่า เราควรเลิกดื่มนมวัว เพราะนมวัวมีเชื้อโรคและยาปฏิชีวนะเจือปนอยู่ การดื่มนมวัวจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกระดูกพรุน และโรคมะเร็ง เราสามารถดื่มนมที่มาจากพืชทดแทนนมวัวได้ เรื่องนี้ยืนยันว่า ไม่จริง และเป็นไปได้ยากที่เราจะเสี่ยงได้รับเชื้อโรคหรือยาปฏิชีวนะ เนื่องจากกระบวนการผลิตนั้นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร และต้องได้รับอนุญาตผลิตจาก อย. อย่างถูกต้อง แต่กลับเป็นผลดีต่อการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกทั้งในเด็กและวัยรุ่น เนื่องจากนมวัวมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ไม่ว่าจะเป็น แคลเซียม โปรตีน หรือวิตามินต่าง ๆ ดังนั้นสรุปได้ว่า การดื่มนมวัวไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกาย อย่างที่แชร์กัน



    - ดื่มนมทำให้เสี่ยงโรค จริงหรือ?



    ไม่จริง อย่างที่รู้กันดี นมเป็นแหล่งของโปรตีน แคลเซียม และสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะนมช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง และช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย ถึงแม้ว่าในน้ำนมจะมีไขมัน แต่ก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเปอร์เซ็นต์ไขมันที่อยู่ในอาหารประเภทอื่น ๆ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคเบาหวานแนะนำดื่มนมพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนย และควรเลี่ยงนมที่รสหวานหรือปรุงแต่งรสต่าง ๆ เพราะอาจทำให้ได้รับน้ำตาลมากเกินไป ดังนั้นสรุปได้ว่า การดื่มนมไม่ได้ทำให้เสี่ยงโรค อย่างที่แชร์กัน



    - ดื่มนมเปรี้ยวรักษาอาการท้องเสียได้ จริงหรือ?



    ไม่จริง หลายคนอาจเคยได้ยินว่า นมเปรี้ยวสามารถแก้อาการท้องเสียได้ และหลายคนก็อาจเคยใช้วิธีนี้เพื่อแก้อาการท้องเสียมาแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ยังไม่มีการศึกษาวิจัยใดยืนยันได้ว่าการดื่มนมเปรี้ยวขณะท้องเสียสามารถช่วยรักษาอาการท้องเสียให้ดีขึ้นได้ ฉะนั้น หากมีอาการท้องเสียแนะนำให้กินอาหารสุกสะอาด งดอาหารรสจัด และจิบน้ำผสมผงเกลือแร่ ORS (Oral Rehydration Salts) เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป และหากมีไข้ อุจจาระมีมูกเลือดปน และอาการรุนแรงขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ ดังนั้นสรุปได้ว่า การดื่มนมเปรี้ยวไม่สามารถรักษาอาการท้องเสียได้ อย่างที่แชร์กัน



    อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า “นม” เป็นแหล่งสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ไม่ว่าจะเป็น แคลเซียม โปรตีน หรือวิตามินต่าง ๆ และไม่ได้เสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคอย่างที่แชร์กัน รวมถึงนมเปรี้ยวไม่สามารถรักษาอาการท้องเสียได้ สรุป... การดื่มนมวัวเป็นทางเลือกที่ดีในการเสริมสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างที่เข้าใจผิดกัน

  • อย. ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ของกลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมและสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่โรงแรมริชมอนด์นนทบุรี

    นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้นำเสนอนโยบายต่อการสนับสนุนอุตสาหกรรมยาประกอบด้วยทิศทางการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย กลยุทธ์ของ อย.ในการขับเคลื่อนการทำงาน การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ เช่น การปรับลดอัตราการจัดเก็บ การปรับกระบวนการขึ้นทะเบียน ปรับปรุงกระบวนงานให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เป็นต้น

    นอกจากนี้ ภญ. วรสุดา ยูงทอง ผู้อำนวยการกองยา ยังได้บรรยายนโยบายและภารกิจของกองยาในการดำเนินงานสำหรับปี 2566 อาทิ การต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา ค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตยา GMP clearance E-labelling

    การนำเสนอแนวนโยบายของ อย. ในการประชุมดังกล่าว นอกจากจะช่วยสร้างความเข้าใจในด้านการดำเนินงานของ อย. ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินงานในสนับสนุนผู้ประกอบการตามพันธกิจของสำนักงานฯ ต่อไป

  • อย. ห่วงใย วิธีเลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับผิว
    ครีมกันแดดเป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่เฉพาะสาว ๆ กันแล้ว กลายเป็นสิ่งที่ทุกเพศทุกวัย หันมาสนใจใช้ในการปกป้องดูแลผิวจากแสงแดดที่บ้านเรานับวันจะร้อนแรงมากขึ้นทุกที ครีมกันแดดจึงกลายมาเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมี และต้องใช้ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง แต่จะเลือกครีมกันแดดอย่างไรให้เหมาะกับผิว เพื่อสุขภาพผิวที่ดี สวยใส และท้าแดด

    ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด จัดเป็นเครื่องสำอางมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันรังสียูวีเอและยูวีบี ที่มาจากแสงแดด ช่วยลดปริมาณรังสีอัลตราไวโอเลตที่จะมาถึงผิว โดยอาศัยคุณสมบัติของสารป้องกันแสงแดด

    SPF คืออะไร?

    SPF หรือ Sun Protection Factor ของผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด คือ ค่าที่แสดงถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์ในการป้องกันการไหม้แดงของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสียูวีบี (UVB) โดยทั่วไปสามารถใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 และเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือขณะเล่นกีฬาอาจจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF30 ขึ้นไป

    PA คืออะไร?

    PA หรือ Protection grade of UVA หรือ UVAPF คือ ค่าที่แสดงถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์ในการป้องกันอาการดำคล้ำของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสียูวีเอ (UVA) โดยดูจากเครื่องหมาย "+" ซึ่งมีค่าตั้งแต่ PA+ ไปจนถึง PA++++ ซึ่งแสดงถึงระดับประสิทธิภาพจากน้อยไปหามาก



    ครีมกันแดดควรเลือกให้เหมาะกับผิว จึงต้องใส่ใจในการเลือกให้ดี ซึ่งก็มีวิธีการเลือกให้เหมาะกับผิว ดังนี้


    1. เลือกตามการใช้งาน ควรเลือกครีมกันแดดให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำ ถ้าต้องอยู่กลางแดดนาน ๆ หรือต้องเล่นกีฬาที่มีเหงื่อออก ก็ควรเลือกที่มี SPF สูงและกันน้ำได้


    2. สังเกตค่า SPF ควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 15 และ PA++ ขึ้นไป สามารถป้องกันได้ทั้งแสง UVA และ UVB


    3. ป้องกันตัวเอง ด้วยครีมกันแดดไม่ได้ป้องกัน 100% ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดควบคู่ไปด้วย หรือหาอุปกรณ์การป้องกันแดดมาเป็นตัวช่วย เช่น หมวก ร่ม แว่นกันแดด เสื้อแขนยาว เป็นต้น


    4. จำนวนครั้งที่ทาต่อวัน ถ้าอยู่ในออฟฟิศ ห้องแอร์ วันละครั้งก็เพียงพอ แต่ถ้าต้องทำงานกลางแดด โดนลม จะต้องทาซ้ำเพิ่ม ถ้าว่ายน้ำหรือเล่นน้ำ ต้องทาทุก 2-3 ชั่วโมง


    5. ปริมาณ ทาครั้งละประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ หรือทาครั้งละ 1 ข้อนิ้วมือ โดยให้ทาซ้ำ 2 รอบในแต่ละครั้งราคาหรือยี่ห้อ อาจไม่สะท้อนถึงคุณภาพของสินค้าเสมอไป แต่ควรซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เป็นเครื่องสำอางที่จดแจ้งแล้ว และควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้


  • อย. ห่วงใย โรคไตนอกจากเลี่ยงกินเค็ม ควรเลี่ยงอาหารอะไรอีก
    ไตเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญของร่างกาย หน้าที่หลักของไต คือการกรองของเสียจากเลือดและขับถ่าย
    ออกทางปัสสาวะ รวมทั้งรักษาสมดุลของน้ำ เกลือแร่ และความเป็นกรดด่างของเลือด ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
    ที่มีการทำงานของไตลดลง จะทำให้ขับของเสียได้น้อยลง ดังนั้นเพื่อที่จะรักษา และยืดอายุการทำงานของไต
    ให้ยาวนานยิ่งขึ้น การเลือกกินอาหารให้ถูกต้องจึงมีความสำคัญในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง แล้วอาหารอะไรที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรเลี่ยงการรับประทาน มาติดตามกันเถอะ

    ในคนที่เป็นโรคไตเรื้อรัง นอกจากอาหารเค็มแล้ว อาหารที่ควรเลี่ยงมีอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น

    1. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีโซเดียมมาก เช่น ผงชูรส ผงปรุงรส ซุปก้อน ผงฟู ซอสต่าง ๆ อาหารหมักดอง เช่น
    ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักกาดดอง เนื้อสัตว์ปรุงรสหรือแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง แฮม หมูหยอง
    และอาหารเติมเกลือ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวต้ม/โจ๊กซอง

    2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอล หรือไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไข่แดง ไข่ปลา ปลาหมึก หอยนางรม ขาหมู
    รวมทั้งอาหารที่มีส่วนผสมของเนย และครีม เช่น เค้ก พิซซ่า และผลิตภัณฑ์ขนมอบ

    3. ลดการกินเนื้อสัตว์ลงโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น คอหมูย่าง เอ็นหมู เอ็นวัว ข้อไก่

    4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องในสัตว์ เมล็ดถั่ว กุ้งแห้ง

    5. สำหรับผู้ป่วยที่มีโพแทสเซียมในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผัก ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น หัวปลี
    แครอท หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม ผักคะน้า กล้วย ฝรั่ง ลูกพรุน น้ำมะพร้าว เป็นต้น

    นอกจากนี้ในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังควรให้รับประทานไข่ขาววันละ 1-2 ฟอง ใช้น้ำมันถัวเหลือง น้ำมันรำข้าว ในการประกอบอาหาร โดยวิธีการประกอบอาหาร ควรใช้วิธีการ ย่าง ต้ม และอบ แทนวิธีการทอดจะดีกว่านะ

  • อย.เตือนผลิตภัณฑ์สมุนไพร “ไมโครโดส”
    จากการตรวจสอบข้อมูลการโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร “ไมโครโดส” ตามที่ ปรากฏดังกล่าวแล้วพบว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสูตรส่วนประกอบของสมุนไพร โดยมีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คือ “เพื่อบำบัด หรือ รักษาช่วยให้เลิกสุรา บุหรี่ กัญชา และสารเสพติดชนิดอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น ลดอาการซึมเศร้าและไบโพลาร์ เพิ่มสมาธิและความคิด สร้างสรรค์ในการทำงาน” ซึ่งจากการสืบค้นในระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แล้ว ไม่พบปรากฏผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวนี้


  • อย. แนะ 3 เคล็ดลับ เลือกซื้ออาหารถวายพระวันมาฆบูชา เสริมมงคลชีวิต
    6 มีนาคม 2566 วันมาฆบูชา อย. แนะชาวพุทธทำบุญตักบาตร โดยใช้ 3 เคล็ดลับ “2 สังเกต 1 เลี่ยง” สังเกตฉลาก GDA และสังเกตสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) หลีกเลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์

    นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า 6 มีนาคมนี้ ตรงกับวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนมักนิยมทำบุญตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง หรืออาหารที่อยู่ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว โดยอาหารที่นำมาถวายมีจำนวนไม่น้อยที่มีไขมันสูง มีรสเค็มจัด หรือมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ่ในปริมาณสูง เช่น กาแฟปรุงสำเร็จ ชนิดผง เครื่องดื่มช็อกโกแลตปรุงสำเร็จ ชนิดผง ประเภท 3in1 ผลิตภัณฑ์ขนมอบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้พระสงฆ์ได้รับสารอาหารเกินความต้องการของร่างกาย เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และโรคอื่น ๆ ตามมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและ (อย.) มีความห่วงใยสุขภาพพระสงฆ์ จึงขอแนะนำให้ชาวพุทธทุกคนคำนึงถึงคุณค่าทางอาหารที่เป็นประโยชน์ เหมาะสำหรับนำไปถวายพระสงฆ์ โดยก่อนเลือกซื้ออาหารที่อยู่ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายมาใส่บาตรหรือถวายสังฆทาน ให้ยึดหลัก 2 สังเกต 1 เลี่ยง ดังนี้

    2 สังเกต

    1. สังเกตข้อมูลฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts ; GDA) ที่แสดงปริมาณค่าของพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ในหน่วยเมตริก (หน่วยของพลังงานเป็นกิโลแคลอรี่) ของอาหารทั้งบรรจุภัณฑ์ (1 ซอง/ 1 กล่อง) ในรูปทรงกระบอกเรียงติดกัน 4 รูป และช่วงล่างใต้รูปทรงกระบอกแสดงค่าร้อยละของปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวัน ซึ่งอยู่บริเวณด้านหน้าของฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร

    2. สังเกตสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดของกลุ่มอาหารนั้น ๆ เป็นตัวช่วยสำคัญให้เราเลือกซื้ออาหารที่ลดหวาน มัน เค็ม ให้เหมาะสมต่อสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ให้กับพระสงฆ์ได้

    1 เลี่ยง

    เลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์

    รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้บริโภคใส่ใจกับการเลือกผลิตภัณฑ์อาหารมาใส่บาตรในทุกวันสำคัญทางศาสนา ด้วยการอ่านข้อมูลฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (GDA) หรือสังเกตสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์

  • อย. จัดทีมเสริมแกร่งผู้ประกอบการเครื่องสำอางและ SME เน้นทักษะด้านการจดแจ้งและการขอเอกสารใบรับรองการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ให้มีความเข้าใจสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อลดอุปสรรคและเพิ่มโอกาสการแข่งขันการส่งออกเครื่องสำอางสู่ตลาดโลก

    นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงได้มีการผลักดัน ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้ผู้ประกอบการ ซึ่งโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและการขอเอกสารใบรับรองเพื่อการส่งออกให้สอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกแก่ผู้ประกอบการเครื่องสำอาง

    ทั้งนี้ ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตั้งแต่ ปี 2563 มีมูลค่าการส่งออก 92,517.08 ล้านบาท ปี 2564 มีมูลค่าการส่งออก 96,132.75 ล้านบาท และปี 2565 มีมูลค่าการส่งออก 112,860.53 ล้านบาท โดยจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ประเทศที่ส่งออกไปมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ประเทศในอาเซียน เป็นต้น

    โดยการอบรมที่จัดขึ้นในวันนี้ (วันที่ 3 มีนาคม 2566) เป็นการอบรมผ่านระบบออนไลน์ ประกอบด้วยการบรรยายเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายและหลักเกณฑ์การยื่นคำขอต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การชี้แจงประเด็นคำถามที่พบบ่อยรวมถึงเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และตอบข้อซักถาม โดยวิทยากรจากกองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ผู้เข้าร่วมการอบรมประกอบด้วย ผู้ประกอบการเครื่องสำอางและผู้ที่สนใจ จำนวนประมาณ 200 คน

    เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. หวังให้ผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมในครั้งนี้มีความรู้ทักษะพื้นฐานในการจดแจ้งเครื่องสำอางและการขอเอกสารใบรับรองเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น และพบการเกิดปัญหาข้อผิดพลาดที่น้อยลง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในเวทีสากลโลกนำไปสู่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป

  • อย. รุกหนัก สั่งกวาดล้างโฆษณาผิดกฎหมายในลาซาด้า ช้อปปี้
    เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลง อย. ตรวจพบโฆษณาอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ผิดกฎหมาย ในลาซาด้า ช้อปปี้ จำนวนมาก หวั่นผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ จึงได้เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปราม และฝ่ายกฎหมายเร่งรวบรวมหลักฐานดำเนินคดี 2 ตลาดออนไลน์รายใหญ่ที่ผ่านมา อย. เปรียบเทียบปรับลาซาด้าไปแล้ว 45 คดี ได้เงินค่าปรับกว่า 4.9 ล้านบาท เปรียบเทียบปรับช้อปปี้ไปแล้ว 22 คดี ได้เงินค่าปรับกว่า 1.9 ล้านบาท และมีคดีที่มีโทษจำคุกอีกจำนวนมากที่ส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อ โดย อย. ได้นัดเข้าพบผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อหารือการทำงานร่วมกันในการกวาดล้างตลาดออนไลน์ให้เป็นตลาดปลอดโฆษณาเถื่อน

    รองเลขาธิการ อย. กล่าวเตือนเจ้าของตลาดออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มต้องมีมาตรการตรวจสอบผู้ค้าที่ขอสิทธิเข้ามาเปิดร้านค้าในแพลตฟอร์มของตนเอง มิให้ขายสินค้า หรือโฆษณา ผิดกฎหมาย หลอกลวงผู้บริโภค หาก อย. ตรวจสอบพบจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งเจ้าของตลาดออนไลน์ และร้านค้า

  • อย. ชี้แจงอนุมัติทะเบียนยารักษาวัณโรครวมเม็ดแล้ว 2 รายการ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2564
    เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกมาแสดงความเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ว่าเหตุใดประเทศไทยจึงไม่มียารักษาวัณโรคแบบสูตรผสม 4 ชนิดในเม็ดเดียว ทำให้ผู้ป่วยต้องรับประทานยามากเม็ดต่อวันนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยา ขอชี้แจงว่า อย.อนุมัติการขึ้นทะเบียน ยารักษาวัณโรคแบบสูตรผสม Isoniazid + Rifampicin + Pyrazinamide + Ethambutol จำนวน 2 ตำรับ ได้แก่

    1) ไรป์-900 (RIPE-900) เลขทะเบียนตำรับยา 2A 110/64 ผลิตโดย บริษัท ยูเมด้า จำกัด (อนุมัติทะเบียน ปี พ.ศ. 2564)

    2) ฟอสค๊อส-แทรค (FORECOX-TRAC) เลขทะเบียนตำรับยา 2C 13/65 ผลิตโดย MACLEODS PHARMACEUTICALS LIMITED สาธารณรัฐอินเดีย นำเข้าโดย บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด (อนุมัติทะเบียน ปี พ.ศ. 2565)

    ยาทั้ง 2 ตำรับดังกล่าว เป็นยาที่อยู่ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี ข และใช้รักษาวัณโรคในระยะเริ่มต้น

    และมีข้อมูลจาก กองวัณโรค กรมควบคุมโรค ได้จัดซื้อยารักษาวัณโรครวมเม็ด ชื่อการค้า Rifampicin 150 mg, Isoniazid 75 mg, Pyrazinamide 400 mg & Ethambutol hydrochloride 275 mg Tablet USP โดยใช้เงินกองทุนโลก ปี 2566 จัดซื้อสำหรับรักษาผู้ป่วย 2,000 ราย

    อย. ยืนยันว่า ประเทศไทยมียารักษาวัณโรคแบบสูตรผสม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแพทย์ในการเลือกใช้ยาสำหรับรักษาผู้ป่วย และการดำเนินธุรกิจของบริษัทยาที่ได้รับอนุมัติทะเบียนไป

  • อย. ห่วงใยก่อนใช้เครื่องสำอางทุกชนิด อย่าลืมทดสอบการแพ้
    นอกจากการเลือกซื้อเครื่องสำอางอย่างถูกต้องและปลอดภัยแล้ว ในบทความนี้ อย. จะขอเจาะลึกในเรื่องของการทดสอบการแพ้ก่อนที่จะใช้เครื่องสำอางทุกชนิด เนื่องจากหากใช้เครื่องสำอางแล้วเกิดการแพ้อาจส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้



    การทดสอบการแพ้ควรทำในเครื่องสำอางใดบ้างและทดสอบอย่างไร?

    ในการทดสอบการแพ้เครื่องสำอางนั้นควรทดสอบก่อนที่จะใช้เครื่องสำอางทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นครีมทาหน้า ครีมบำรุงผิว ลิปสติก บรัชออน ฯลฯ โดยควรทดสอบก่อนใช้แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายหรือมีความน่าเชื่อถือก็ตามการทดสอบการแพ้สามารถทำได้โดยทาเครื่องสำอางที่ท้องแขนทาทิ้งไว้ 24 – 48 ชั่วโมง หากไม่มีผื่นคันแดงหรือไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น แสดงว่าสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้นได้



    การแพ้เครื่องสำอางเกิดขึ้นได้กับทุกคนหรือไม่?

    การแพ้เครื่องสำอางขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่ระคายเคืองผิวหรือไม่ก่อให้เกิดการแพ้ 100% แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายจะมีความเสี่ยงในการแพ้สูงขึ้น



    ดังนั้นเราสามารถใช้เครื่องสำอางได้อย่างปลอดภัยได้โดย ก่อนซื้อ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง 10 หรือ 13 หลัก และมีฉลากภาษาไทย ก่อนใช้ หลังจากที่ทดสอบการแพ้ของเครื่องสำอางแล้ว ก่อนที่จะใช้ควรอ่านฉลากของผลิตภัณฑ์และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และหมั่นสังเกตผลิตภัณฑ์ก่อนใช้ทุกครั้ง หากมีสี กลิ่น หรือลักษณะที่ผิดปกติไม่ควรใช้ต่อ ควรนำไปทิ้ง อีกทั้งควรดูวันหมดอายุของเครื่องสำอางอยู่เสมอ หากพบว่าเครื่องสำอางหมดอายุแล้วก็ควรทิ้งไป ไม่ควรนำมาใช้


  • การเลือกนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก
    นมแม่ถือเป็นสุดยอดอาหารที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับทารก โดยอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ต่อการเจริญเติบโตตามวัย รวมทั้งมีสารช่วยเสริมสร้างูมิคุ้มกัน สารต่อต้านอนุมูลอิสระ และแบคทีเรียที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร แต่หากคุณแม่อยู่ในสภาวะที่ไม่อาจให้นมหรือนมแม่มีไม่เพียงพอ จะมีวิธีเลือกซื้อนมให้ลูกน้อยอย่างไรดี วันนี้ อย. มีคำตอบ

    ผลิตภัณฑ์สำหรับทารกและเด็กเล็ก คือ นมหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้เป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะใช้เลี้ยงทารกและเด็กเล็ก สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท

    1. นมดัดแปลงสำหรับทารกหรืออาหารทารก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งหมายใช้เลี้ยงทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 เดือน มีสารโปรตีน ไม่น้อยกว่า 1.8 กรัมของเคซีน สารคาร์โบไฮเดรตต้องเป็นน้ำตาลแลคโตส และสารไขมันไม่น้อยกว่า 3.3 กรัม และไม่เกิน 6.0 กรัม ในจำนวนที่ให้พลังงาน 100 กิโลแคลอรี่

    2. นมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็กหรืออาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็กเป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งหมายใช้เลี้ยงทารกที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 12 เดือน หรือเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีถึง 3 ปี มีสารโปรตีน ไม่น้อยกว่า 3.0 กรัมของเคซีน และสารไขมันไม่น้อยกว่า 3.0 กรัม และไม่เกิน 6.0 กรัม ในจำนวนที่ให้พลังงาน 100 กิโลแคลอรี่

    ทั้งนี้ หากเด็กอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป สามารถกินนมกล่อง UHT หรือพาสเจอร์ไรซ์ได้ เนื่องจากเด็กจะได้รับอาหารตามวัยซึ่งครบ 5 หมู่อยู่แล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้นมที่เติมสารอาหารตามข้างตัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะโภชนาการของเด็กแต่ละคน


    หลักการเลือกซื้อนม
    1. ควรอ่านฉลากอาหารและข้อมูลทางโภชนาการก่อนเลือกซื้อ

    สารอาหารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแสดงค่าพลังงานและปริมาณสารอาหาร ได้แก่ ปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ให้พลังงานวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ

    การอ่านฉลากอาหารและข้อมูลโภชนาการจะช่วยให้คุณแม่สามารถเลือกซื้อนมให้ลูกน้อยได้เหมาะสมกับความต้องการหรือภาวะทางโภชนาการ

    2. เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร และเลือกซื้อให้เหมาะสมกับอายุของทารก ผลิตภัณฑ์ส่วนมากจะระบุอายุของทารกไว้ที่ฉลากอาหาร

    3.เลือกผลิตภัณฑ์ที่บรรจุภัณฑ์เรียบร้อยและยังไม่หมดอายุ

    4.รายละเอียดที่ต้องแสดงบนฉลากอาหาร ได้แก่ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ส่วนประกอบสำคัญ ข้อมูลโภชนาการ คำแนะนำการใช้และการเก็บรักษา วันเดือนและปีที่ผลิตและหมดอายุ ปริมาณอาหาร วิธีเตรียม ข้อความสิ่งสำคัญที่ควรทราบ

    แม้นมแม่จะดีที่สุดสำหรับทารก แต่หากคุณแม่มีปัญหาในการให้นมแม่ คุณแม่ควรศึกษาประเภทของนมและเลือกนมที่ดีและเหมาะสมสำหรับลูกน้อยเพื่อทดแทนนมแม่ แต่อย่างไรก็ตาม อย.ขอเตือนคุณแม่อย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณเพิ่มน้ำนมมากินเอง เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยได้ และที่สำคัญ อย. ไม่เคยอนุญาตผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างในลักษณะดังกล่าว

  • อย. จับมือมูลนิธิกสิกรไทย บพข. และ TCELS ลงนามบันทึกความเข้าใจ ดำเนินโครงการ “น่านแซนด์บอกซ์” เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนายาจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสามารถออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ มาตรฐานด้านความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิผล โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566 - 2569

    เมื่อวันที่ (20 กุมภาพันธ์ 2566) ที่ผ่านมา ณ ธนาคารกสิกรไทย อาคารราษฎร์บูรณะ นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ดร.จิตต์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการมูลนิธิกสิกรไทย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืชสมุนไพร ในพื้นที่จังหวัดน่าน บนความพยายามแก้ไขปัญหาให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ป่าไม้ที่ยั่งยืน สามารถเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นในประเทศ

    เลขาธิการฯ อย. เปิดเผยว่า ทั้ง 4 หน่วยงาน จะร่วมกันจัดตั้งโครงการบ่มเพาะต้นแบบในลักษณะคลินิกให้คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมการวิจัย ผลักดัน และสนับสนุนการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืช ให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพภายใต้ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องตามระเบียบขั้นตอน และยกระดับอุตสาหกรรมพืชยาให้มีความปลอดภัยมีคุณภาพและมาตรฐานสูง เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเพื่อเป็นประโยชน์หรือกรณีศึกษาในการส่งเสริมให้เกิดการขึ้นทะเบียนกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ อีกทั้งจะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืช เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและการคืนกลับมาของป่าในจังหวัดน่าน ตามแนวทางของโครงการ “น่านแซนด์บอกซ์” ต่อไป

  • อย. และมาเลเซียร่วมหารือความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพ
    อย. ให้การต้อนรับทูตพาณิชย์ประเทศมาเลเซีย ประจำประเทศไทย ในการเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง รวมถึงหารือความร่วมมือเพื่อการส่งเสริมการส่งออก

    นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 คณะผู้บริหาร อย. ร่วมให้การต้อนรับ Mr. Mohamed Hafiz Md Shariff, Trade Commissioner สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงาน Malaysia External Trade Development Corporation (MATRADE) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมการส่งออกของประเทศมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางมาเข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทย–มาเลเซีย โดยประเทศมาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันกับไทย ถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและในภาพรวมระดับโลก ซึ่งทั้งสองประเทศได้ตกลงร่วมกันที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ อย. และ MATRADE ได้มีการประสานงานระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดย อย. ได้ให้การสนับสนุนข้อมูลด้านกฎระเบียบเป็นอย่างดีมาโดยตลอด การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองหน่วยงานจะได้หารือความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการส่งออก และเกิดการแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย.

    รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ได้นำเสนอกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 และขอความอนุเคราะห์หน่วยงาน MATRADE ช่วยประสานวิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการจัดกิจกรรมดังกล่าว นอกจากนี้ อย. ยังนำเสนอความร่วมมือทางวิชาการสำหรับการประเมินผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ (Novel Food) และความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับด่านอาหารและยา ทั้งความร่วมมือทางวิชาการ ด้านกฎระเบียบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ การเฝ้าระวังความปลอดภัย รวมไปถึงการรับรองแหล่งผลิตที่ต้นทาง ซึ่งได้มีการมอบหมายผู้รับผิดชอบหลักเพื่อการประสานงานประเด็นดังกล่าวกับประเทศมาเลเซียต่อไป

  • รู้และเข้าใจ PrEP กับ PEP ยาต้านไวรัส HIV
    การมีเพศสัมพันธ์ที่เปิดกว้างและเสรี ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวียังเพิ่มสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันนวัตกรรมทางด้านยาและสาธารณสุขก็ได้ปรับตัวให้สอดคล้องเพื่อป้องกันและลดจำนวนผู้ติดเชื้อด้วยเช่นกัน อย่างที่หลายคนเคยได้ยินกันบ้างแล้วกับยาต้านไวรัสเอชไอวีทั้งแบบป้องกันและฉุกเฉิน คืออะไร วันนี้มาทำความรู้จักไปพร้อมกัน
    PrEP หรือ Pre-Exposure Prophylaxis (ยาต้านก่อนเสี่ยง) เป็นยาต้านไวรัสสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี ใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในผู้ที่มีภาวะสุ่มเสี่ยง หรือรับประทานเพื่อลดความเสี่ยงก่อนการติดเชื้อ เช่น ในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่ทราบผลเลือดหรือมีคู่นอนหลายคน , ผู้ที่คู่นอนเป็นผู้ติดเชื้อ HIV , ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น , มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นต้น แต่ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้

    ประสิทธิภาพของยา PrEP จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการรับประทานยา โดยต้องรับประทานยาทุกวัน วันละ 1 เม็ด ให้ตรงเวลา รวมถึงป้องกันการติดเชื้อโดยใช้วิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การลดจำนวนคู่นอน เป็นต้น หลังจากใช้ยา PrEP ควรตรวจเลือดเพื่อติดตามประสิทธิภาพของยาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีทุก ๆ 3 เดือน สำหรับระยะเวลาการใช้ยาและการหยุดยาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
    PEP หรือ Post exposure prophylaxis (ยาต้านฉุกเฉิน) ใช้รับประทานหลังจากมีความเสี่ยงได้รับเชื้อเอชไอวีให้ไวที่สุดหรือภายใน 72 ชม. เช่น การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน ถูกข่มขืน สัมผัสเลือดหรือได้รับสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อ HIV บุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุ มีดบาด เข็มตำในโรงพยาบาลจากการทำหัตถการให้คนไข้ เป็นต้น แต่หากเกินกว่า 72 ชม. การใช้ยา PEP จะไม่เกิดประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อ จึงไม่จำเป็นต้องรับยา แต่ควรมาตรวจเลือดหลังจากวันที่มีความเสี่ยงอย่างน้อย 14-21 วัน
    ยา PEP ต้องรับประทานจนครบ 28 วันตามที่แพทย์กำหนด นอกจากนี้ยังต้องมาตรวจหาเชื้อซ้ำหลังผ่านไป 1 เดือนและ 3 เดือน ระหว่างนี้ผู้กินยาต้องใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง หากกินไม่ครบประสิทธิภาพการป้องกันจะลดลง และจะต้องมีการตรวจหาเชื้อ HIV ซ้ำหลังรับประทานยาครบ

    เชื้อเอชไอวีสามารถป้องกันได้ หากรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับยาได้ที่สถานบริการของรัฐ เอกชน หรือคลินิกเฉพาะทางที่มีแพทย์ประจำ เนื่องจากการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และมีเงื่อนไขว่าผู้นั้นจะต้องผ่านการตรวจเลือดแล้วพบว่ามีผล HIV เป็นลบ รวมถึงการตรวจไวรัสตับอักเสบบี และตรวจการทำงานของตับและไตร่วมด้วย เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยา

  • อย. เตือนการใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผม อ่านฉลากให้ละเอียดก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ เพื่อความปลอดภัย
    จากเหตุมีผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมแล้วผมร่วง แสบร้อนทั้งหัว อย. เตือน ระวังการเลือกซื้อและการใช้เพราะเป็นเครื่องสำอางที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้ได้ แนะเพื่อความปลอดภัย อ่านฉลากให้ละเอียดก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ ปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากอย่างเคร่งครัด

    กรณีมีผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์แล้วเกิดอาการผมร่วงขาดเป็นจำนวนมากแสบร้อนไหม้พอง เป็นแผลบนหนังศีรษะ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สั่งการตรวจสอบ พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ผู้เสียหายใช้ คือ KOTA COSMETICS COLOR CREAM SEPlA (ASH GREY) ใบรับจดแจ้งเลขที่ 10-2-6500043714 นำเข้าโดย บริษัท โคทาคอสเมติก จำกัด สถานะใบรับจดแจ้งถูกยกเลิกโดยผู้ประกอบการเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 (ตรวจสอบวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566) ทั้งนี้ อย. ได้เข้าตรวจสอบสถานที่นำเข้า และเก็บตัวอย่างเครื่องสำอางเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์แล้ว สำหรับผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปใช้ หรือขาย ให้สังเกตวันเดือนปีที่ผลิต ต้องเป็นรุ่นที่มีการผลิตและนำเข้าก่อนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 (วันที่ยกเลิกใบรับจดแจ้ง) หากพบเป็นรุ่นการผลิตหลังจากวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 อย่าใช้ และให้รีบติดต่อร้านค้าแหล่งขายเพื่อขอคืนสินค้าต่อไป

    ผู้บริโภคควรตรวจสอบข้อมูลการได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ข้อมูลต้องตรงกับที่ปรากฏบนฉลาก และมีสถานะใบรับจดแจ้งคงอยู่ และก่อนซื้อให้พิจารณาว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีฉลากภาษาไทย ระบุชื่อ ประเภทเครื่องสำอาง แสดงชื่อสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม มีชื่อ-ที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต เดือนปีที่หมดอายุ (สำหรับเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน) คำเตือน และเลขที่ใบรับจดแจ้ง ควรซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือและมีชื่อ - ที่ตั้งแน่นอน หากใช้แล้วเกิดปัญหาสามารถติดตามย้อนกลับได้ ทั้งนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมจะต้องปฏิบัติตามวิธีใช้และคำเตือนที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด และเพื่อความปลอดภัยแนะนำให้ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ โดยการทาเครื่องสำอางในปริมาณเล็กน้อยที่บริเวณท้องแขน หรือหลังใบหู แล้วทิ้งไว้ 24 - 48 ชั่วโมง หากเกิดความผิดปกติ เช่น ผื่นคัน ระคายเคือง ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นั้น





    -2-

    อย. ขอย้ำเตือน ผู้นำเข้าเครื่องสำอางต้องมีความรับผิดชอบต่อสินค้าที่นำเข้ามาขาย คัดเลือกผลิตภัณฑ์จากโรงงานผลิตที่น่าเชื่อถือ ผู้ขายต้องตรวจสอบการจดแจ้ง และจัดทำฉลากภาษาไทยที่ครบถ้วน ถูกต้องก่อนจำหน่ายแก่ผู้บริโภค หากมีการแสดงฉลากด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต/ ผู้รับจ้างผลิต จะมีโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    กรณีเครื่องสำอางไม่มีฉลากภาษาไทยหรือมีข้อความอันจำเป็นไม่ครบถ้วน ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต/ผู้รับจ้างผลิตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นผู้ขายเครื่องสำอางทางออนไลน์ จึงมีหน้าที่ตรวจสอบด้วยว่าเครื่องสำอางที่ขายได้รับการจดแจ้งอย่างถูกต้อง มีการแสดงฉลากภาษาไทยครบถ้วน ถูกต้อง เพราะผู้บริโภคที่ซื้อทางออนไลน์ไม่มีโอกาสได้เห็นสินค้าและฉลากของผลิตภัณฑ์จริง

  • อย. ตรวจพบน้ำแข็งหลอดย่านวัชรพล เลขสารบบอาหาร 10-1-05341-1-0001 พบเชื้อโคลิฟอร์ม และ อี.โคไล ระวังเสี่ยงท้องร่วง
    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่าย จากสถานที่ผลิตอาหารชื่อ บริษัท วัชรพลน้ำแข็งหลอด จำกัด เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยฉลากผลิตภัณฑ์ระบุ “น้ำแข็งหลอดใช้รับประทานได้ เลขสารบบอาหาร 10-1-05341-1-0001 ผลิตโดย บริษัท วัชรพลน้ำแข็งหลอด จำกัด ...93/4 ซ.วัชรพล (รามอินทรา 55)แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ” ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการตรวจพบแบคทีเรียชนิดโคลิฟอร์ม มากกว่า 23 ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร โดยวิธี เอ็ม พี เอ็น (Most Probable Number) และตรวจพบแบคทีเรียชนิด อี.โคไล (Escherichia coli) ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ. 2527) เรื่อง น้ำแข็ง จึงจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ อย. อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิด จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังการซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

  • อย. แนะ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินใช้สำหรับกรณีจำเป็นที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ไม่ใช่ยาสำหรับทำแท้งและไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ทั้งนี้ อาจพบอาการข้างเคียงจากการใช้ยาได้ โดยส่วนใหญ่มีความรุนแรงน้อย แต่ควรปรึกษาแพทย์ หากพบอาการผิดปกติ

    นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า เทศกาลวันแห่งความรัก (14 กุมภาพันธ์) คนส่วนใหญ่มักแสดงความรักแก่กัน ซึ่งมีคู่รักหลายคู่ที่อาจมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน และจำเป็นต้องใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงแนะผู้ใช้ยาทำความเข้าใจ ซึ่งปัจจุบันมีทางเลือกของการคุมกำเนิดที่หลากลาย โดยมีข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การทำหมัน การใส่ห่วงอนามัย และการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด โดยมียาเม็ดคุมกำเนิดที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำแบบรายเดือนและยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นยาที่มีข้อบ่งใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือเกิดความผิดพลาดจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นเท่านั้น

    ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นชนิดฮอร์โมนเดี่ยวมีส่วนประกอบของโปรเจสโตเจนปริมาณสูง มี 2 ขนาด คือ 0.75 มิลลิกรัม/เม็ด และ 1.5 มิลลิกรัม/เม็ด ซึ่งสามารถใช้ได้ 2 แบบ คือ แบบที่หนึ่ง กินยาขนาด 0.75 มิลลิกรัม ให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน อย่างช้าไม่เกิน 72 ชั่วโมง และกินเม็ดที่ 2 ภายใน 12 ชั่วโมงต่อมา และแบบที่สอง กินยาขนาด 1.5 มิลลิกรัม ให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรืออย่างช้าไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยการใช้ทั้งสองแบบให้ผลไม่ต่างกัน ทั้งนี้ การใช้ยาคุมฉุกเฉินอาจพบอาการข้างเคียงได้ ซึ่งส่วนใหญ่มีความรุนแรงน้อย เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ปวดท้องน้อย และความผิดปกติของประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมายาวนานขึ้น แต่หากพบอาการผิดปกติ หรือสงสัยภาวะตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์

    รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวย้ำว่า การใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นทางเลือกหนึ่งในการคุมกำเนิดที่ใช้สำหรับกรณีจำเป็น โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์น้อยกว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรายเดือน อย่างไรก็ตาม ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่ยาทำแท้ง และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

  • วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ภาคภูมิ ศรีลาภะมาศ, พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ.,
    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา,
    ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกรณีทลายเครือข่ายลักลอบนำเข้าเครื่องสำอางแบรนด์ไทยปลอมหลากยี่ห้อ และกระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อดัง
    โดยลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลางกว่า 70 รายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 14,000,000 บาท

    สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากบริษัท เทพไทย โปรดัคท์ จำกัด พบผลิตภัณฑ์ยาสีฟันสมุนไพรยี่ห้อเทพไทยปลอม แพร่ระบาดในตลาดออนไลน์เป็นจำนวนมาก จึงทำการสืบสวนจนทราบว่า มีการจำหน่ายยาสีฟันสมุนไพรเทพไทยปลอมบนแพลตฟอร์มช้อปปี้จริง และพบว่ากลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดมีการลักลอบนำสินค้าปลอมเข้ามาจากประเทศจีน จากนั้นนำมาเก็บไว้ที่โกดังเก็บสินค้าในพื้นที่เขตประเวศ กรุงเทพมหานครเพื่อรอการบรรจุแล้วส่งขายให้กับลูกค้า โดยกลุ่มผู้ต้องหามีลักษณะการกระทำความผิดคือ มักจะสับเปลี่ยนบัญชีที่รับโอนเงินค่าสินค้าและสถานที่จัดเก็บสินค้าอยู่ตลอด รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงชื่อร้านในแพลตฟอร์มช้อปปี้ โดยในระหว่างเดือน ตุลาคม 2564 - ธันวาคม 2565 เกินกว่า 10 ครั้ง และมีใช้รถขนส่งเอกชนในการจัดส่งสินค้าในลักษณะอำพราง ให้ตรวจสอบได้ยาก และพบหลักฐานความเชื่อมโยงว่ามีร้านค้าออนไลน์ที่เครือข่ายดังกล่าวใช้ที่อยู่หน้ากล่องสำหรับจัดส่งพัสดุสำหรับการขายสินค้าในแพลตฟอร์ม ช้อปปี้และลาซาด้ากว่า 18 ร้าน

    ต่อมาในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับ อย. นำหมายค้นของศาลอาญาพระโขนง เข้าค้นสถานที่เก็บสินค้าในพื้นที่ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 จุด รายละเอียดดังนี้

    1. บ้านเลขที่ 7/58 ซอยสุภาพงษ์ 1 แยก 12 แขวงหนองบอน เขตประเวศ ซึ่งใช้เป็นสถานที่เก็บ และแพ็คสินค้าปลอมส่งให้ลูกค้า ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ยาสีฟันปลอม ยี่ห้อเทพไทย จำนวน 36 หลอด และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้ออื่นๆ ที่ต้องสงสัยว่าปลอม จำนวน 21 รายการ

    2. บ้านเลขที่ 234 หรือ 70/70 หมู่บ้านนุชเวศน์ ซอยอ่อนนุช 70/1 แขวงประเวศ เขตประเวศกรุงเทพฯ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ต้องสงสัยว่าปลอม รวม 8 รายการ และกระเป๋าแบรนด์เนมปลอมพร้อมกล่องบรรจุภัณฑ์ จำนวน 3 รายการ รายละเอียดดังนี้

    1. กระเป๋าถือ ยี่ห้อ หลุยส์ วิตตอง จำนวน 30 ใบ

    2. กระเป๋าถือ ยี่ห้อ กุชชี่ จำนวน 35 ใบ

    3. กระเป๋าถือยี่ห้อ อีฟ แซง โรลองท์ จำนวน 2 ใบ

    จากการสืบสวนขยายผลพบว่า สินค้าปลอมดังกล่าวส่งมาจากโกดังเก็บสินค้าในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 จึงได้ร่วมกับ อย. นำหมายค้นศาลจังหวัดสมุทรปราการ เข้าตรวจค้นบริษัท เอ็มเอ๊กซ์ โลจิสติกส์ จำกัด เลขที่ 95/8 หมู่ที่ 21 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ต้องสงสัยว่าปลอม รวม 16 รายการ, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 จำนวน 14 รายการ, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 จำนวน 1 รายการ, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 1 รายการ, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สมุนไพร พ.ศ.2562 จำนวน 2 รายการ

    รวมตรวจค้นทั้งสิ้น 3 จุด ตรวจยึด 1. ยาสีฟันปลอมยี่ห้อเทพไทย 36 หลอด, 2. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอื่นที่ต้องสงสัยว่าปลอม ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 จำนวน 45 รายการ,3.ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 จำนวน 14 รายการ, 4. ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 จำนวน 1 รายการ, 5. ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 1 รายการ, 6. ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สมุนไพร พ.ศ.2562 จำนวน 2 รายการ และกระเป๋าถือแบรนด์เนม 67 ใบ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 14,000,000 บาท ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดอื่นฯ อยู่ระหว่างติดต่อตัวแทนของแต่ละบริษัทเพื่อมายืนยันเพิ่มเติม

    จากการตรวจสอบเครือข่ายดังกล่าวพบว่ามี Mr.Zhong หรือนายจง (สงวนนามสกุล) สัญชาติจีน เป็นผู้ดูแล เบื้องต้นพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้แจ้งข้อกล่าวหา นายจง ฯ ในความผิดฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอมตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 และมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534” โดยนายจงฯ ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าตนมีหน้าที่นำสินค้าปลอมมาแพ็ค และจัดส่งให้ลูกค้าตามออเดอร์โดยมีนายทุนชาวจีนเป็นผู้สั่งการ โดยได้รับค่าจ้างออเดอร์ละ 7-8 บาท เฉลี่ยวันละ 500-1,000 ออเดอร์ โดยนายจง ฯ รับว่าทำมาแล้วประมาณ 3 เดือน ในส่วนผู้ต้องหารายอื่นอยู่ระหว่างสืบสวนขยายผลต่อไป

    เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

    พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน
    3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ฐาน “มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมฯ” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • อย.เตือน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไดเฮิร์บ
    ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไดเฮิร์บ (DIHERB Dietary Supplement Product) ขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในชื่อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไดเฮิร์บ (DIHERB Dietary Supplement Product) เลขอย. 11-1-24162-5-0021 ซึ่งในการยื่น ขออนุญาตไม่มีการยื่นข้อมูลประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริม อาหารไม่มีผลในการ บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และต้องแสดงคำเตือนดังกล่าวบน ฉลาก และการแสดงข้อความ “ไดเฮิร์บ จะเป็นผลิตภัณฑ์เดียว ที่คุณเห็นผลลัพธ์จริงๆใน อาการต่อไปนี้ : น้ำตาลในเลือดสูง อ่อนเพลียจากโรคเบาหวาน มือชา เท้าชา ปัสสาวะ คน บ่อยผิดปกติ วูบจากอาการน้ำตาลสูง ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลขสูง แผลหายช้า แห้งไม่สนิท” และ “Diherb ผลิตภัณฑ์ลดน้ำตาลและ คอเลสเตอรอล ปรับสมดุลความดัน โลหิต” เป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพของ อาหารอันเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้ เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่ง อย. จะดำเนินการ ทางกฎหมายกับผู้กระทำการฝ่าฝืน พรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ต่อไป...

  • ตัวย่อ บนฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร รู้ไว้...ใช้เป็น
    MFD Manufactured Date MFG Manufacturing Date “วันที่ผลิต” เช่น MFG : 21012023 หมายถึง ผลิตภัณฑ์นี้ผลิตเมื่อวันที่ 21 เดือนมกราคม ค.ศ.2023 หรือ พ.ศ.2566 “ยิ่งใกล้วันซื้อ ยิ่งดี”

    EXP Expiry Date EXD Expiration Date "วันหมดอายุ" เช่น EXP : 21012026 หมายถึง ผลิตภัณฑ์นี้หมดอายุวันที่ 21 เดือนมกราคม ค.ศ. 2026 หรือ พ.ศ. 2569 ไม่ควรบริโภคต่อ หลังจากวันที่ระบุ (อาหารอาจเสีย บูดเน่า) ควรทิ้ง ยิ่งไกลวันชื่อ ยิ่งดี

    BB , BBF Best Before BBE Best Before End "ควรบริโภคก่อน” เช่น BBE : 30.04.28 หมายถึง ควรบริโภคก่อนวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2028 หรือ พ.ศ. 2571 แตกต่างจาก "วันที่หมดอายุ” ตรงที่หากเลยวันที่ระบุยังสามารถ บริโภคได้แต่รสชาติ คุณภาพ และคุณค่าทางอาหารจะลดลง ยิ่งไกลวันซื้อยิ่งดี

    *สำคัญ* ควรพิจารณาลักษณะ กลิ่น สีและรสชาติว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ เช่นมีจุดของเชื้อรา หรือ มีลักษณะเป็นเมือก ไม่ควรบริโภค

  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร WELLGO รักษาอาการปวดข้อเข่า โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน และหมอน รองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ได้โดยไม่ต้องผ่าตัด..
    ตรวจสอบข้อเท็จจริง ...ผลิตภัณฑ์ฉลากระบุ WELLGO ดังกล่าว ขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ใน ชื่อ เวลส์โก (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)/Wellgo (Dietary Supplement Product) เลขอย. 10-1-07561-5-0061 ซึ่งในการยื่นขออนุญาตไม่มีการยื่นข้อมูลประสิทธิผล ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่มีผลในการ บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และต้องแสดงคำเตือนดังกล่าวบนฉลาก และการแสดงข้อความ รักษา อาการปวดข้อเข่า โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน และหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ได้โดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควรซึ่ง อย. จะดำเนินการ ทางกฎหมายกับผู้กระทำการฝ่าฝืนพรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ต่อไป.

  • การคุมกำเนิดเพศชาย
    การคุมกำเนิดเป็นวิธีป้องกันการตั้งครรภ์สำหรับคนที่ยังไม่พร้อมมีบุตรหรือมีบุตรเพียงพอแล้ว ซึ่งนอกจากการคุมกำเนิดของเพศหญิงแล้วในปัจจุบันมีวิธีการคุมกำเนิดสำหรับผู้ชายอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่ละวิธีก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ซึ่งการจะเลือกใช้วิธีใดนั้นต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย วันนี้เราจึงนำเสนอข้อมูลเพื่อเป็นตัวช่วยในการเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมสำหรับคุณผู้ชาย ดังนี้
    การทำหมันชาย เหมาะสำหรับผู้ที่มีบุตรเพียงพอแล้ว เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวรสำหรับชายโดยการผ่าตัดผูกตัดท่อนำเชื้ออสุจิทั้ง 2 ข้าง
    ข้อดี * สามารถทำได้ง่าย เสียค่าใช้จ่ายน้อย ไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล ปลอดภัย
    * ไม่มีผลโดยตรงต่อสมรรถภาพ หรือความรู้สึกทางเพศ
    ข้อเสีย * ไม่สามารถมีบุตรได้อีกเลย
    * ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ทำให้เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
    * ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

    ถุงยางอนามัย เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่นิยมใช้
    ข้อดี * สะดวก หาซื้อง่ายตามร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อ สามารถป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หากใช้อย่างถูกวิธี ใช้ได้ทุกโอกาส
    ข้อเสีย/ข้อควรระวังในการใช้ * ไม่สามารถใช้ซ้ำได้
    * ถุงยางอนามัยทำจากยางพารา ต้องระวังไม่ใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นประเภทน้ำมัน เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพลดลงและฉีกขาดได้
    ถุงยางอนามัย จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องมีใบอนุญาตในการผลิตหรือนำเข้า การเลือกซื้อถุงยางอนามัยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้ ก่อนซื้อก่อนใช้ควรสังเกตเครื่องหมาย อย. บนผลิตภัณฑ์ อ่านฉลากก่อนซื้อ ตรวจดูวันที่ผลิต และวันหมดอายุ

    การหลั่งภายนอกช่องคลอด

    ข้อดี * ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ง่าย สะดวก และไม่ต้องใช้อุปกรณ์ในการปฏิบัติ
    * ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด และแผ่นแปะคุมกำเนิด
    * ไม่มีผลต่อประจำเดือนของเพศหญิง
    ข้อเสีย * อาจชะงักอารมณ์ทางเพศของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
    * มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดต่ำมาก

    การคุมกำเนิดถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องหันมาใส่ใจ ไม่ว่าจะเพศไหน หรืออายุเท่าไหร่ก็ตาม เพราะเรื่องการตั้งครรภ์แบบไม่พร้อม ทั้งอยู่ในช่วงวัยที่ไม่พร้อมหรือไม่พร้อมมีบุตรเพิ่ม รวมถึงการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องที่แก้ไขที่ปลายเหตุได้ยาก จึงควรให้ความสำคัญและใส่ใจแต่เนิ่น ๆ

  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านมะเร็งจริงหรือไม่
    มะเร็งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประชากรปัจจุบัน โดยเป็นโรคที่เกิดจากการมีเซลล์ผิดปกติในร่างกาย และเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินปกติ ร่างกายควบคุมไม่ได้ เซลล์เหล่านี้จึงเจริญลุกลามและแพร่กระจายทั่วร่างกาย ส่งผลให้เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อ/อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ล้มเหลว ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด

    ปัจจุบันนี้มีการแอบอ้างกันมากว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดเมื่อกินแล้วสามารถรักษามะเร็งให้หายขาดได้ ซึ่งเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะไม่มีงานวิจัยใดสามารถพิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยในการรักษาโรคมะเร็ง และ อย. ไม่เคยอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีฤทธิ์รักษาโรคมะเร็งแต่อย่างใด อนึ่งผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค ดังนั้น หากพบผลิตภัณฑ์อาหารที่โฆษณาอวดอ้างในลักษณะดังกล่าว แสดงว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

    เพื่อความมั่นใจการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรพิจารณาสิ่งเหล่านี้

    1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผลิต หรือนำเข้าเพื่อจำหน่าย ต้องได้รับอนุญาตจาก อย.

    2. มีการแสดงฉลากภาษาไทย ระบุชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต/นำเข้าชัดเจน เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. แสดงวันเดือนปีที่ผลิตหรือวันเดือนปีที่หมดอายุของผลิตภัณฑ์ คำเตือน รวมทั้งข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เช่น ส่วนประกอบที่สำคัญ คำแนะนำในการใช้ คำแนะนำในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์(ถ้ามี)

    ควรพึงระลึกไว้ว่า เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. เป็นการแสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวมีการขออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด เช่น มาตรฐานการผลิต คุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ และการแสดงฉลาก แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงได้รับอนุญาตโฆษณา ดังนั้น หากมีการแอบอ้างว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นสามารถรักษาโรคได้นั้น จัดเป็นการโฆษณาเกินจริง อย่าหลงเชื่อ หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง

  • ครีมเปลี่ยนสีผิวอันตรายกว่าที่คิด
    การที่ผิวหนังของคนมีสีต่าง ๆ นั้นเป็นไปตามกรรมพันธุ์ ขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนของเม็ดสีผิวหนัง ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดสามารถเปลี่ยนสีผิวได้อย่างถาวร แต่เราสามารถดูแลผิวไม่ให้หมองคล้ำมากกว่าเดิมได้

    ปัจจุบันพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเครื่องสำอางสามารถเปลี่ยนสีผิวได้ ซึ่งเมื่อส่งตรวจวิเคราะห์พบสารที่ก่อให้เกิดอันตราย ที่แม้จะช่วยให้ผิวขาวขึ้นในระยะแรก แต่มีอันตรายในระยะยาว ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผิดกฎหมาย จัดเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ อย.ได้ประกาศผลวิเคราะห์เพื่อเตือนประชาชนอย่างสม่ำเสมอ (สามารถสืบค้นรายละเอียดการประกาศผลวิเคราะห์เครื่องสำอางที่พบสารห้ามใช้ได้ที่https://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/Pages/Main.aspx หัวข้อ ประกาศผลการวิเคราะห์ ) และสารอันตรายที่พบบ่อย เช่น
    1. สารประกอบของปรอท ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารปรอท ทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ

    2. ไฮโดรควิโนน ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนน อาจทำให้เกิดการแพ้ระคายเคือง อักเสบหน้าแดง อาการแสบร้อน ตุ่มแดง และภาวะผิวคล้ำมากขึ้นในบริเวณที่ทา หากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง ผู้ที่ได้รับสารนี้เกินขนาด สารนี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการสั่นหรือเกิดภาวะลมชักหรือกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้

    3. กรดวิตามินเอ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดวิตามินเอ อาจทำให้หน้าแดง แสบร้อนรุนแรง เกิดการระคายเคือง อักเสบ แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
    4. สเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ อาจทำให้ผิวบาง เกิดรอยแตก เส้นเลือดใต้ผิวหนังผิดปกติ หน้าแดงตลอดเวลา เกิดผื่นแพ้ เกิดสิวผด ผิวหนังมีสีจางลง หากใช้เป็นเวลานานจะเกิดด่างขาว

    ปัจจุบันไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่สามารถเปลี่ยนสีผิวให้ขาวขึ้นได้อย่างถาวร การดูแลให้ผิวสวย ผ่องใส ไม่หมองคล้ำกว่าเดิม สามารถทำได้โดยรับประทานอาหาร ถูกหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนออกจากบ้านควรทาผลิตภัณฑ์ป้องกันแดด และเมื่อต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งควรหาอุปกรณ์ป้องกันแดดมาใช้ด้วย เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางร่ม

    เนื่องจากผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดจัดเป็นเครื่องสำอาง ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง ก่อนใช้อ่านฉลากภาษาไทยให้ละเอียด โดยเฉพาะวิธีใช้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้น ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และที่สำคัญ อย่าหลงเชื่อการโฆษณาหรือรีวิวเกินจริง เช่น อ้างว่าเครื่องสำอางเปลี่ยนสีผิวได้รวดเร็ว ลบฝ้ากระ จุดด่างดำได้ภายใน 3 วัน 7 วัน เพราะมักจะมีส่วนผสมของสารอันตรายข้างต้น

  • อย. แนะผู้บริโภคเช็กก่อนซื้อ ทดสอบก่อนใช้เครื่องสำอาง เพื่อความปลอดภัย
    กรณีมีผู้ใช้ครีมกำจัดขนแล้วเกิดอาการระคายเคือง เป็นผื่นแดง อย. เตือนผลิตภัณฑ์กำจัดขนมีฤทธิ์เป็นด่างค่อนข้างสูงอาจเกิดการแพ้ได้ แนะให้เช็กก่อนซื้อ ทดสอบก่อนใช้ อ่านฉลากให้ถี่ถ้วน เพื่อความปลอดภัย

    กรณีมีกระแสในโลกโซเชียล เตือนผู้ใช้ครีมกำจัดขนให้ทดสอบกับผิวก่อน เพราะมีผู้ใช้เกิดอาการ ระคายเคือง เป็นผื่นแดง โดยเฉพาะบริเวณผิวข้อพับที่แขนและขา เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่าผลิตภัณฑ์กำจัดขน เป็นเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่าง โดยสารเคมีจะเข้าไปละลายโครงสร้างเคราตินโปรตีนของเส้นขนที่อยู่เหนือผิวหนัง ทำให้เส้นขนนุ่มลงและขาดออกจากรากขนได้ง่าย จึงอาจก่อให้เกิดการแพ้และระคายเคืองได้ อย. ขอแนะนำให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดขน “เช็กก่อนซื้อ” และ “ทดสอบก่อนใช้”

    เช็กก่อนซื้อ อ่านฉลากให้เข้าใจและปฏิบัติตามวิธีใช้ รวมทั้งคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบว่ามีฉลากภาษาไทยและระบุรายละเอียดครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ คำเตือน ที่สำคัญต้องมีเลขที่ใบรับจดแจ้ง และควรซื้อจากร้านค้าหรือแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ

    ทดสอบก่อนใช้ ทาเครื่องสำอางในปริมาณเล็กน้อยที่บริเวณท้องแขนหรือหลังใบหู ทิ้งไว้ 24 - 48 ชั่วโมง หากพบความผิดปกติ เกิดผื่นแดง คัน ระคายเคือง ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นี้ แต่หากไม่พบความผิดปกติใด ๆ สามารถใช้ได้โดยให้สวมถุงมือขณะใช้ ระวังอย่าให้เข้าตา หากเข้าตาต้องรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด รีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้เหมาะสำหรับใช้กำจัดเส้นขนบริเวณแขนและขาเท่านั้น ไม่ควรใช้กับใบหน้าเพื่อกำจัดหนวด เครา หรือขนคิ้วเด็ดขาด รวมถึงบริเวณที่ลับใต้ร่มผ้า หรือผิวหนังบริเวณใกล้อวัยวะเพศ หรือเส้นขนในรูจมูกซึ่งเป็นผิวหนังที่บอบบาง อย่าใช้ผลิตภัณฑ์ถ้าผิวหนังมีรอยแดง ระคายเคืองหรือมีบาดแผล ถ้าใช้แล้วมีอาการผิดปกติ ควรหยุดใช้ทันทีและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ไม่แนะนำให้ใช้ซ้ำบ่อย ๆ ในบริเวณเดียวกันเพราะอาจส่งผลต่อการระคายเคืองผิวหนังบริเวณนั้น

  • ข่าวประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ผลการตรวจสอบหรือวิเคราะห์เครื่องสำอางที่พบสารห้ามใช้ ครีมหน้าใสพีวาย P.Y. Facial Skin cream พบสารประกอบของปรอทและสารสเตียรอยด์
    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการตรวจสอบและทำการซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าออนไลน์ บัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อ “P.Y. Shop - ครีมหน้าใสพีวาย” เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 และส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบสารที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง จึงขอประกาศผลการตรวจสอบหรือผลวิเคราะห์เครื่องสำอางให้ประชาชนทราบ ดังนี้

    ชื่อเครื่องสำอาง

    ข้อความที่ฉลากระบุ

    สารห้ามใช้

    ที่ตรวจพบ

    ผู้ผลิต/ ผู้นำเข้า/

    ผู้จำหน่าย

    เลขที่ผลิต และ

    ครั้งที่ผลิต

    เดือนปี

    ที่ผลิตและเดือนปีที่หมดอายุ

    ครีมหน้าใสพีวาย

    P.Y. Facial Skin cream

    ไม่ระบุเลขที่ใบรับจดแจ้ง

    ไม่ระบุ

    ไม่ระบุ

    ไม่ระบุ

    1.สารประกอบของปรอท (Mercury compounds)



    2.สารสเตียรอยด์ (Glucocorticoids ชนิดBetamethasone 17-valerate)





    อันตรายของเครื่องสำอางข้างต้น ได้แก่

    1. ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารประกอบของปรอท อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ

    2. ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารสเตียรอยด์ (Glucocorticoids ชนิด Betamethasone 17-valerate) อาจทำให้ผิวบาง เกิดรอยแตก เส้นเลือดใต้ผิวหนังผิดปกติ หน้าแดงตลอดเวลา เกิดผื่นแพ้ เกิดสิวผด ผิวหนังมีสีจางลง หากใช้เป็นเวลานานจะเกิดด่างขาว

    ข้อแนะนำ

    ขอเตือนให้ประชาชนเลือกซื้อเครื่องสำอางด้วยความระมัดระวัง ซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน ฉลากภาษาไทยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ได้แก่ ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ประเภทเครื่องสำอาง ชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตหรือปีเดือนที่ผลิต คำเตือน (ถ้ามี) และเลขที่ใบรับจดแจ้ง สำหรับร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางเพื่อจำหน่าย จะต้องซื้อจากผู้มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน

  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำมัน มะพร้าว (ตรา คุณพลอย) ช่วยปรับสมดุลร่างกาย หลับง่ายขึ้น และช่วยให้ไม่ปวดตามเนื้อตามตัว หรือกระดูก อย. ตรวจสอบแล้วพบ " ไม่มีการยื่นข้อมูลประสิทธิผล ตามที่กล่าวอ้างอย่าหลงเชื่อ อาจเสียเงินเปล่า " เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค #oryor #FDAthai #FDAnews #อย #ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันมะพร้าวตราคุณพลอย #ไม่มีการยื่นข้อมูลประสิทธิผล #อ้างปรับสมดุลร่างกาย #ลดอาการปวดเมื่อย #ปวดกระดูก

  • คลิปการรับรางวัล Product Innovation Awards 2022 พร้อมเสียงประกาศว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Dr.X Hulk นวัตกรรมหนึ่งเดียวของการใช้สมุนไพรที่เทียบเท่า Viagra เจ้าแรกและเจ้าเดียวในไทยที่ใช้การศึกษาการระบาด ศาสตร์สมุนไพรจีนกับ สมุนไพรไทย ซึ่งสามารถช่วยฟื้นฟูระบบร่างกายของเพศชายให้กลับมาสมดุลได้อีก ครั้ง” คลิปดังกล่าว มีเนื้อหาที่สื่อแสดงให้เข้าใจคุณประโยชน์ คุณภาพของอาหารอัน เป็นเท็จหรือหลอกลวง ให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร เนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริม อาหารไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค

  • คำแนะนำในการบริโภคไข่ที่เหมาะสม
    คุณประโยชน์ 10 ประการของไข่ไก่

    1. ไข่เป็นอาหารที่ดีสำหรับดวงตา ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การรับประทานไข่วันละฟองอาจจะช่วยป้องกัน โรคจอประสาทตาเสื่อม จากสารคาโรทีนอยด์ที่อยู่ในไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูทีน (lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งเป็นสารที่พบบริเวณตา โดยฉาบอยู่บนผิวของเรตินา เพราะร่างกายจะได้รับสารอาหารทั้งสองอย่างนี้ โดยตรงจากไข่มากกว่าอาหารชนิดอื่น

    2. ไข่ทำให้เป็นต้อกระจกน้อยลง จากคนที่กินไข่ทุกวัน มีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อกระจกน้อยลง อันเนื่องมาจากลูทีน และซีแซนทีนในไข่ดังได้กล่าวมาแล้ว

    3. ไข่อุดมไปด้วยโปรตีน โดย 1 ฟอง จะมีโปรตีนคุณภาพดี 6 กรัม และกรดอะมิโนสำคัญอีก 9 ชนิด

    4. ผลจากการทำวิจัยโดยมหาวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด พบว่า การบริโภคไข่เป็นประจำยังช่วยป้องกันเลือด จับตัวเป็นก้อน เส้นเลือดอุดตันในสมอง และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

    5. ไข่เป็นแหล่งโคลีนที่ดีในกลุ่มของวิตามินบี ช่วยในการควบคุมการทำงานของสมอง ระบบประสาท และ ระบบไหลเวียนของเลือด โดยไข่ 1 ฟอง จะมีโคลีนมากถึง 300 ไมโครกรัม

    6. ไขมันในไข่มีคุณภาพดี ไข่ 1 ฟอง มีไขมันอยู่ 5 กรัม และมีเพียง 1.5 กรัมเท่านั้นที่เป็นไขมันชนิดอิ่มตัว

    7. แม้ว่าจะขัดแย้งกับความเชื่อเดิมๆ แต่งานวิจัยชิ้นใหม่กลับพบว่า การบริโภคไข่วันละ 2 ฟองเป็นประจำ ไม่ มีผลกระทบต่อระดับไขมันในร่างกาย มิหนำซ้ำอาจจะช่วยทำให้ไขมันดีขึ้น

    8. กินไข่ได้วิตามินดี เพราะไข่เป็นอาหารเพียงชนิดเดียวที่เป็นแหล่งวิตามินดีตามธรรมชาติ

    9. ไข่อาจจะช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม โดยผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้หญิงที่รับประทานไข่ 6 ฟองต่อสัปดาห์ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมลงร้อยละ 44

    10. ไข่ทำให้เส้นผมและเล็บมีสุขภาพดี เพราะว่าไข่มีซัลเฟอร์สูง รวมถึงยังมีวิตามินและแร่ธาตุอีกหลายชนิด หลายคนจึงพบว่าผมยาวเร็วขึ้นหลังจากที่เพิ่มไข่เข้าไปในอาหารที่รับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่เคยขาด อาหารที่มีซัลเฟอร์หรือวิตามินบี 12 มาก่อน (สสส.)

  • อย. สานกลไก “นำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการวัตถุอันตราย
    อย. จัดทีมให้ข้อมูลความรู้ข้อกฎหมาย หลักเกณฑ์ การยื่นคำขออนุญาตผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายเสริมพลังผู้ประกอบการ หวังเพิ่มศักยภาพให้สามารถก้าวสู่การแข่งขันในเวทีการค้าโลก สานนโยบายคนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง หรือ Health for Wealth “นำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”ของกระทรวงสาธารณสุข

    ด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายการดำเนินงานโดยมุ่งเป้าหมาย “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง” ซึ่งกลไกหนึ่งที่ใช้ในการขับเคลื่อน คือ การนำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เร่งรัดดำเนินการโดยการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพให้มีคุณภาพ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันมุ่งส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพให้สามารถต่อยอด สร้างความมั่งคั่งแก่เศรษฐกิจของประเทศ โดย อย. ตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งเสริม ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์
    วัตถุอันตราย เพื่อให้มีการผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นไปตามกฎหมายและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สถานประกอบการไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัย ในวันนี้ (27 มกราคม 2566) ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 1 และผ่านระบบออนไลน์ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานเปิดการประชุม ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามกฎหมายวัตถุอันตราย โดยมีการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย หลักเกณฑ์ ข้อกำหนดที่เริ่มใช้บังคับ การยื่นคำขอและการอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การชี้แจงประเด็นข้อคำถาม ที่พบบ่อยจากการยื่นคำขอ แนวทางการโฆษณาและแนวทางการแสดงฉลากที่ถูกต้อง รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะต่าง ๆ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม คือ ผู้ประกอบการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 443 คน

    ทั้งนี้ อย. หวังให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่เข้าร่วมประชุมปฏิบัติตามกฎระเบียบได้อย่างถูกต้อง ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และยิ่งไปกว่านั้น สามารถนำข้อมูลความรู้ไปประกอบการวางแผนธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีการค้าระดับสากล ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างเข้มแข็ง บรรลุตามนโยบายคนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง หรือ Health for Wealth ของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป



  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร LUTA ช่วยบำรุงอาการตาบอดกลางคืน ช่วยอาการเมื่อยล้าของดวงตา ชะลอความเสื่อมของจอประสาทตา ต้านอาการอักเสบ บรรเทาอาการตาแห้ง และ ช่วยกรองแสงสีฟ้าได้

    ผลิตภัณฑ์ฉลากระบุ Luta ดังกล่าว ขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในชื่อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลูต้า (ตราแท็พ) / Luta Dietary Supplement Product (TaaP Brand) เลขอย. 74-1-18761-5-0264 ซึ่งในการยื่นขออนุญาตไม่มีการยื่นข้อมูล ประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และต้องแสดงคำเตือนดังกล่าวบนฉลาก และการแสดงข้อความ ช่วยบำรุงอาการตาบอดกลางคืน ช่วยอาการเมื่อยล้าของดวงตา ชะลอความเสื่อมของ จอประสาทตา ต้านอาการอักเสบ บรรเทาอาการตาแห้ง และช่วยกรองแสงสีฟ้าได้ เป็น การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ ของอาหารอันเป็นเท็จ หรือ หลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร

  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารจากสถานที่ผลิตเพื่อจำหน่าย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไส้กรอก ดี.ดี. ซอสเซส ตั้งอยู่เลขที่ 629 ถนนอ่อนนุช เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยผลิตภัณฑ์ฉลากระบุ “โบโลน่าแซนวิช” Bologna Sandwich เลขสารบบอาหาร 10-1-05734-5-0206 น้ำหนักสุทธิ 1,000 กรัม ผลิตโดย หจก.ไส้กรอก ดี.ดี.ซอสเซส 629 ถนนอ่อนนุช เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร MFG 14-10-22 EXP 30-11-22 ลักษณะเป็นแผ่นกลมแบนสีชมพูบรรจุในถุงพลาสติกใสพิมพ์ลาย รัดปากถุงด้วยลวด บรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม ผลการตรวจพบกรดเบนโซอิก 2,193 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกินค่าความปลอดภัย จึงจัดเป็นอาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ อย. อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดต่อไป

    ข้อแนะนำ

    ขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังอย่าซื้อ “ผลิตภัณฑ์โบโลน่าแซนวิช Bologna Sandwich” ที่ระบุวันที่ผลิตและวันหมดอายุดังกล่าวข้างต้นมารับประทาน เนื่องจากมีกรดเบนโซอิกเกินค่าความปลอดภัยหากรับประทานสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมาก อาจทำให้มีอาการผื่นคัน หรือท้องเสีย และมีผลต่อการทำงานของตับและไต หากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

  • อย. เตือน “ขนมควันทะลัก” ใส่ไนโตรเจนเหลว อย่าริทำตามคลิป แฝงอันตราย
    จากกรณีรัฐบาลอินโดนีเซียเตือนภัย พบเด็กป่วยหลังกินขนมผสมไนโตรเจนเหลว โดยทำตามคลิปที่มีการกินขนมพร้อมพ่นควันสีขาวออกมาจากปาก อย. มีความห่วงใย ขอให้หลีกเลี่ยงการกิน สัมผัส หรือ สูดดม ไนโตรเจนเหลวโดยตรง เสี่ยงอันตรายโดยคาดไม่ถึง

    นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีรัฐบาลอินโดนีเซียเตือนการใช้ไนโตรเจนเหลวในอาหารพร้อมรับประทาน หลังพบเด็กมีอาการแสบท้องและท้องเสียหลังกินขนมท้องถิ่น “ชิกิ เกบุล” ซึ่งทำตามคลิปวิดีโอกินขนมพร้อมพ่นควันสีขาวออกมาจากปากนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใย การใช้ไนโตรเจนเหลวในอาหารพร้อมบริโภค เพื่อให้เกิดควันพวยพุ่งออกมา ซึ่งเป็นการปลุกกระแสสร้างความแปลกใหม่ ดึงดูดลูกค้าให้ซื้อสินค้าไปรับประทาน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ขนมควันทะลัก” หรือการดัดแปลงนำไนโตรเจนเหลวมาใช้ใส่ในอาหารเพื่อทำให้แข็ง
    เช่น ราดหรือผสมลงในไอศกรีม ราดลงบนขนมให้แข็งตัว การใช้ในลักษณะผู้ใช้ต้องมีความระมัดระวังและต้องใช้ไนโตรเจนเหลวที่มีคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร และปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้ที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 หากตรวจพบว่ามีการใช้ไนโตรเจนเหลวในปริมาณมากจนเกินเหตุและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ถือว่าเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • อย. ตรวจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าจากเกาหลี หาสารตกค้างอันตราย
    นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานอาหารและยาไต้หวัน พบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าจากเกาหลี “Nongshim Shin Ramyun Black Bowl (Tofu Kimchi)” มีสารกำจัดศัตรูพืช “เอทิลีนออกไซด์” ตกค้างในบรรจุภัณฑ์ผงปรุงรส ในปริมาณ 0.075 มก./กก. โดยไม่ได้ระบุรุ่นการผลิตของสินค้าที่พบปัญหานั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีการนำเข้าบะหมี่ดังกล่าวมาจำหน่ายในประเทศไทย ในชื่อ ชิน ราเมียน แบล็ค โบวล์ โทฟู กิมจิ (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพร้อมเครื่องปรุงรสเผ็ดผสมเต้าหู้และกิมจิ ถ้วยใหญ่) (ตรา นงชิม) เลขสารบบอาหาร 10-3-07945-5-0811 ผู้นำเข้าคือ บริษัท โปรไทย จำกัด เลขที่ 359 ซอยลาซาล 22 ถนนสุขุมวิท 105 แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร โดยบริษัทฯ มีการนำเข้ามา 2 ครั้ง คือ รุ่นวันหมดอายุ 4 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 480 ถ้วย และรุ่นวันหมดอายุ 8 พฤษภาคม 2566 จำนวน 2,560 ถ้วย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค อย. ได้ดำเนินการอายัดสินค้าทั้งหมดและเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจวิเคราะห์ และจะแจ้งผลการตรวจพิสูจน์ให้ผู้บริโภคทราบโดยเร็ว

    ทั้งนี้ เอทิลีนออกไซด์ (Ethylene oxide) เป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 จึงต้องไม่พบการตกค้าง หากตรวจพบในอาหาร จัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน การผลิต นำเข้า จำหน่ายอาหารดังกล่าว มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรุ่นวันหมดอายุดังกล่าว นอกจากนี้ ประชาชนควรเลือกซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ตรวจสอบฉลาก ต้องแสดงรายละเอียด ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของสถานที่ผลิต หรือผู้นำเข้าและประเทศผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ ส่วนประกอบที่สำคัญ วันเดือนและปีที่ผลิตและหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน เป็นต้น หากผู้บริโภคไม่แน่ใจในคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค

  • อย. ร่วมส่งเสริมเทศกาลตรุษจีน แนะ 4 วิธีการเลือกซื้ออาหารไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบรรพบุรุษ ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน หรือขนมมงคล ผักและผลไม้ เพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ โดยควรเลือกซื้ออาหารที่ปรุงสดใหม่ ไม่มีกลิ่น สี หรือรสชาติผิดปกติ และเลือกซื้อจากสถานที่ผลิตและจำหนายที่น่าเชื่อถือ

    นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เทศกาลตรุษจีน ถือเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชาวจีน ซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนมักมีการจับจ่ายซื้ออาหารสำหรับกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นหมู เป็ด ไก่ เครื่องใน ขนมเทียน ขนมเข่ง ขนมถ้วยฟู เป็นต้น อาหารเหล่านี้ล้วนมีการปรุงสุกไว้ล่วงหน้า ทำให้เสี่ยงต่อการเน่าเสียได้ง่าย หรืออาจมีการใส่สีหรือวัตถุกันเสียเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากไม่ระมัดระวังในการเลือกซื้อ อาจได้รับอันตรายจากอาหารที่ไม่มีคุณภาพและไม่ปลอดภัยในการบริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอแนะ 4 วิธีการเลือกซื้ออาหารในช่วงเทศกาลตรุษจีน ดังนี้

    1. อาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ (หมู เป็ด ไก่) ต้องมีสภาพสดใหม่ เนื้อแน่น มีสี กลิ่นตามธรรมชาติ ไม่มีจ้ำเลือด

    2. ขนมมงคล เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมปุยฝ้าย ควรเลือกที่มีสีไม่ฉูดฉาด มีสีกลิ่นรสปกติ บรรจุอยู่ในภาชนะที่สะอาด และไม่มีสีออกมาปนเปื้อนกับอาหาร

    3. อาหารกระป๋อง ควรเลือกซื้อที่ลักษณะกระป๋องอยู่ในสภาพดี ไม่บุบ บวม หรือเป็นสนิม ฉลากแสดงรายละเอียด ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของสถานที่ผลิต หรือผู้นำเข้าและประเทศผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ ส่วนประกอบที่สำคัญ วันเดือนและปีที่ผลิตและหมดอายุ เป็นต้น

    4. ผักและผลไม้ ควรเลือกซื้อที่สด สะอาด และควรล้างทำความสะอาดก่อนนำมาบริโภค ซึ่งผู้บริโภคสามารถลดการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชได้โดยการล้างด้วยผงฟู หรือเบคกิ้งโซดา ½ ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด หรือล้างด้วยน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด หรือเพื่อความมั่นใจผู้บริโภคสามารถซื้อชุดทดสอบสารตกค้างสารเคมีกำจัดแมลงในผักและผลไม้ด้วยตนเอง ซึ่งสามารถตรวจสารตกค้างสารเคมีจำกัดแมลงในผักและผลไม้ได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา 45 นาที

    รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอย้ำเตือนผู้ประกอบการ อย่าเอาเปรียบผู้บริโภค นำผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีคุณภาพมาจำหน่าย หาก อย. ตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย สำหรับผู้บริโภค หากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

  • ผลิตภัณฑ์ฉลากระบุ THAnOS อย. 24-1-09957-1-0107 ดังกล่าว ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ ได้รับอนุญาตจาก อย. และมีการปลอมเลข อย. ของผลิตภัณฑ์อื่นซึ่งถูกยกเลิกไปตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2562 ทั้ง นี้ข้อความ “เพิ่ม สมรรถภาพ เพิ่มขนาด แข็งตัวได้เต็มที่ ทำให้คุณอึดได้ดั่งใจ มี อย. รับรอง” เป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของ อาหารอันเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่ง อย. จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำการฝ่าฝืน พรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ต่อไป...



    ข้อมูลข่าวอ้างอิง : https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/2384

  • อย. ห่วง “โรคเหน็บชา”..ที่เป็นแล้วไม่ควรเฉยชา
    “โรคเหน็บชา”..ที่เป็นแล้วไม่ควรเฉยชา
    อาการชาถือเป็นอาการทางระบบประสาทอย่างหนึ่งอาการชาจะเกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทส่งความรู้สึกของบริเวณที่เป็นนั้นทำงานบกพร่องไปแล้วอย่างน้อย 50% พบได้กับทุกวัยและสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะที่นิ้ว มือ แขน เท้าหรือขา มักพบตามปลายมือ ปลายเท้า ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งเกิดจากการขาดวิตามินบี 1 ซึ่งเป็นวิตามินที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้เอง ทำให้เกิดโรคเหน็บชา

    โรคเหน็บชา…สามารถป้องกันได้ ดังนี้

    1. เลือกรับประทานอาหารกลุ่มธัญพืชไม่ขัดสี และเนื้อสัตว์ ที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 เช่น ถั่ว ธัญพืช ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวฟ่าง งาต่าง ๆ เป็นประจำ

    2. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยที่ติดสุราเรื้อรัง มักมีอาการเหน็บชาร่วมด้วย

    3. หลีกเลี่ยงการรับประทานของดิบ ของหมักดอง เนื่องจากอาหารดังกล่าวขัดขวางการดูดซึมวิตามินบี 1 ของร่างกาย

    4. หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ต้องให้นมลูก และผู้ที่ต้องทำงานหนัก ควรแน่ใจว่าตัวเองได้รับอาหารที่มีวิตามินบี 1 อย่างเพียงพอ เนื่องจากความต้องการวิตามินของร่างกายสูงขึ้น

    5.หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารโดยการเคี่ยวหรือใช้ความร้อนนานๆ รวมถึงการแช่น้ำนานๆ จะทำให้มีการสูญเสียวิตามินบี 1

    การรักษาด้วยยาขึ้นอยู่กับความรุนแรง ดังนี้
    กรณีมีอาการโรคเหน็บชารุนแรง อาจรักษาด้วยการให้วิตามินบี 1 เสริม ซึ่งมักเป็นชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อให้ได้ผลการรักษาในทันที หลังจากนั้นผู้ป่วยจะต้องรับประทานวิตามินบี 1 เสริม เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน

    ดังนั้น หากมีอาการเหน็บชาร่วมกับอาการผิดปกติอื่น และมีอาการเกิดขึ้นยาวนาน หรืออาการมีความรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันอย่างปกติได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยละเอียด และไม่ควรตัดสินใจซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารับประทานเอง